Copyright ? 2009 Management and Psychology Institute
Thailand All Rights Reserved
ผมเพิ่งเริ่มตั้งธุรกิจหลังจากเรียนจบมา 3 ปีกว่า ผมจบตรีที่เอแบค แล้วมาทำงานอยู่ SCG เป็นเซลขายเหล็กเส้น 3 ปีกว่า แล้วมาจบโทที่ธรรมศาสตร์ ก็อยากทำธุรกิจเล็กๆ ด้วยความที่เป็นคนชอบด้านการตลาด และชอบเรื่อง Product Design เห็นอะไรแล้วชอบคิดในการปรับรูปแบบต่างๆ คิดว่าอยู่ในอุตสาหกรรมเหล็กเส้นไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่ เพราะมันไม่สามารถแปลงลวดลายออกไปได้วิจิตรพิสดารมากนัก ลายอย่างมากก็ปล้องอ้อยอย่างเดียว ก็เลยเลือกทำธุรกิจในห้องน้ำ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่มีข้อจำกัดในการออกแบบ ขณะเดียวกันก็เป็นธุรกิจที่มีมูลค่าเพิ่มสูงที่สุดในบ้าน ถ้าเรา Differentiate ในเรื่อง Product มีจุดที่จะเดินไปได้ไกลกว่าสินค้าอุตสาหกรรม ขณะนั้นผมมีทุนสองแสนกว่าบาท ก็เลยตั้งธุรกิจเล็กๆ ผลิตตู้อาบน้ำตามขนาดห้องน้ำ สมัยก่อนใช้ผ้าม่าน เราเป็นรายแรกๆ ที่ไปวัดห้องน้ำ ขนาดไม่มาตรฐาน ผมมีเพื่อนที่ทำธุรกิจนำเข้าเฟรมอลูมิเนียม ก็จ้างเค้ามาทำแล้วก็ทำการตลาดให้
ปี 38 ผมทำธุรกิจดีมากเพราะเป็นเศรษฐกิจฟองสบู่ เรียลเอสเตทก็บูม เราก็นำเข้า ก๊อกน้ำ ฝักบัว เครื่องทำน้ำอุ่น โดยไม่คิดพึ่งพาสินค้าในประเทศ นำเข้า 100% ไม่เคยคิดจะใช้ตราสินค้าไทย ไม่เคยคิดจะใช้นวัตกรรมของไทย พอเกิดวิกฤติปี 40 ก็เกิดจุดพลิกของธุรกิจ หนี้ผมเพิ่มขึ้นมากกว่า 100% ตอนนั้นขายของไม่ได้ แทบไม่มีเงินเดือนจ้างพนักงาน ธนาคารทวงหนี้ ต่างประเทศเริ่มไม่ให้เราสั่งสินค้า เพราะยอดไม่ดี ก็เลยเป็นที่มาของวันที่เปลี่ยนชีวิต จำได้ว่าคือวันที่ 4 ธันวาคม 2540 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งทางทีวี ท่านรับสั่งให้กำลังใจคนไทย เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้พวกเราลองใช้ดู มันช่วยเรา ช่วยประเทศได้ ผมน้อมนำและก็พยายามศึกษาเพราะยังไม่เข้าใจว่าพอเพียงแล้วจะนำมาปรับใช้กับธุรกิจอย่างไร
คนที่ช่วยให้แนวคิดนี้กระจ่างขึ้นคือ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เวลาท่านไปบรรยายที่ไหนผมก็จะตามไปฟัง จนสุดท้ายก็รู้ว่ามันคือการพัฒนาอย่างสมดุล ทุกสิ่งบนโลกถ้าไม่สมดุล มันอยู่ไม่ได้ แม้กระทั่งองค์กรธุรกิจ ที่ผ่านมาเราไม่สมดุลเพราะเราพึ่งพาต่างประเทศอย่างเดียว เราไม่มีแบรนด์ ไม่มีนวัตกรรม ไม่มีการประกันความเสี่ยง ไม่มีภูมิคุ้มกันในแต่ละด้านเลย พึ่งพาตัวเองได้น้อยมากเมื่อเกิดปัญหา พระองค์ท่านเน้นว่า เหมือนกับการสร้าตึก คนส่วนใหญ่จะเน้นแข่งกันสร้างตึกสูง แต่ลืมลงเสาเข็มให้ลึกแข่งกันด้วย บางคนคิดว่าไม่จำเป็น เสียเวลา เสียเงินเยอะ และมองไม่เห็นอะไร ขณะเดียวกันสู้สร้างตึกไม่ได้ มีกำไร เราก็มามองว่าฐานรากก็สำคัญนะ ที่สำคัญที่สุดคือที่ตาเรามอง ไม่เห็น นั่นคือความรัก ความสามัคคีในองค์กร พอเกิดวิกฤต คนหนีไปหมด สุดท้ายแม้แต่คู่ค้าก็ไม่เชื่อใจเรา ย้อนกลับมาว่าเราต้องนำเรื่องความสมดุลมาใช้ นี่คือยุคเริ่มต้น
เป็นยุคเริ่มต้นของการปรับธุรกิจ จากนำเข้าค่อยๆ หันมาสร้างนวัตกรรม หันมาจ้างโรงงานในประเทศผลิต ด้วยแบรนด์เราเอง สร้างนวัตกรรม 6 มิติ เรียกว่า ดีไซน์ ทำชั้นวางของในห้องน้ำด้วยอะคริลิค เหมือนอ่างอาบน้ำสีขาวเข้ามุมได้ ติดผนังได้อาบน้ำได้ ล้างหน้าได้ เพิ่มฟังก์ชั่นเป็นที่นั่งอาบน้ำ มีหัวเจ็ทนวดตัว ทำอ่างอาบน้ำ ทำอ่างน้ำวน เพิ่มมูลค่า เพิ่มเทคโนโลยีเข้าเป็น จึงเป็นที่มาของแบรนด์ I SPA สามารถเชื่อมต่อ ipod ได้เป็นรายแรกของโลกเมื่อ 10 ปีที่แล้ว น้ำเปลี่ยนสีตามจังหวะเพลง โทรศัพท์สั่งงานจากกลางสี่แยกให้เปิดอ่างอาบน้ำได้ วัดแคลลอรี่ขณะเราอยู่ในอ่าง เหมือนอ่างน้ำวนลดหุ่นได้ บั๊บเบิ้ลขึ้นมาเป็นโอโซน สามารถประยุกต์อ่างอาบน้ำกับสระว่ายน้ำเข้าด้วยกันได้ น้ำไหลล้นตลอดแล้วก็ดูดกลับเข้ามาใหม่หมุนเวียน จนกระทั่งอ่างอาบน้ำที่ไม่มีสวิตซ์คอนโทล ใช้ระบบสัมผัส และมีเหนือกว่านั้นคือไม่ต้องสัมผัส ใช้มือโบก รุ่นล่าสุดใช้ปริมาตรในตัวเราสั่งงาน พอเราลงไปมันสั่งงานเอง เป็นเทคโนโลยีที่โลกมีในอุสาหกรรมอื่นแล้วเราเอามาประยุกต์ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางธุรกิจที่พ่อหลวงแนะพวกเรา พระองค์ท่านสอนเราว่าเศรษฐกิจพอเพียงต้องสมดุล โดย
1 รู้จักพึ่งพาตัวเองให้ได้ 2 ต้องปรับตัวแข่งขันในกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงของโลก 3 ต้องกลับไปเป็นที่พึ่งให้คนอื่น และคนอื่นจะกลับมาเป็นที่พึ่งให้เราในอนาคต อันนี้เป็นหลักพื้นฐานความสมดุล
หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีคำอยู่ 3 คำที่สำคัญที่สุด
วิ่งหาความสุข ความสุขจะวิ่งมาหาเราเอง เพราะฉะนั้นความสุขที่เราคิด เกิดจากการที่เราจะต้องได้เงินมากที่สุด สุดท้ายอาจจะทุกข์ที่สุดก็ได้ คนที่รวยที่สุดไม่จำเป็นว่าเค้าจะสุขที่สุด
แล้วความสุขกับความสำเร็จมันเดินทางไปด้วยกันได้อย่างไร แนวทางของพ่อหลวงบอกว่า สุขกับสำเร็จต้องไปด้วยกัน ไม่อย่างนั้นธุรกิจหรือชีวิตเราหมดคุณค่า นักจิตวิทยามักสำรวจคนที่ประสบความสำเร็จ เค้าจะสรุปออกมาเหมือนๆ กันทุกประเทศ บอกว่าคนที่ประสบความสำเร็จมักจะไม่ค่อยมีความสุข แต่คนที่มีความสุขก็มักไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เพราะคนมองความสำเร็จคือต้องได้เงินมากที่สุด สุดท้ายเค้าก็วิ่งตามหาอะไรที่หาไม่เจอ สุขที่แท้จริง พ่อหลวงบอกว่า อยู่ที่พอใจในสิ่งที่มี ยินดีในสิ่งที่ได้ และภูมิใจในสิ่งที่เป็น เรามี 100 ล้านแล้วอิจฉาเพื่อน คาดว่าน่าจะได้ 1,000 ล้าน แต่เราได้แค่ 100 ล้าน มันก็ทำให้เราทุกข์ ทุกสิ่งบนโลกจะไม่ทำให้เราสุข ถ้าเราไม่รู้จักพอใจ และพอใจเกิดจากคำเดียว คือคำว่าพอดี ทุกอย่างบนโลกนี้มากไปก็ไม่ดี น้อยไปก็ไม่ดี แต่มนุษย์ต้องการหาสิ่งที่มาก จริงๆ ไม่ใช่ พอดีคือคำว่าปกติ ร่างกายเราปกติ เราไม่เคยเห็นความสุขของความปกติ แต่เมื่อวันไหนร่างกายไม่ปกติ ก็จะโหยหา สมัยปกติมันสุขที่สุด ธุรกิจก็เช่นเดียวกัน ทำอย่างไรถึงจะพอดีและไม่เป็นอะไรที่สุดโต่ง ขณะเดียวกันก็โตตามธรรมชาติ ไม่เกินธรรมชาติ สร้างเสาเข็มไปพร้อมๆ กับความสุข คนรอบข้างก็สุขด้วย สำเร็จกับสุขต้องไปด้วยกัน
เราเคยได้ยินคำว่าประโยชน์สุขมั้ย เป็นคำที่พ่อหลวงพระราชทาน ประโยชน์คือสิ่งที่เป็นมูลค่า วัดเป็นตัวเลขได้ เช่น ปีนี้เราจะกำไรเท่าไหร่ เติบโตเท่าไหร่ พ่อหลวงบอกไมได้ห้ามนะ แต่เป็นแค่ส่วนหนึ่ง อีกสิ่งหนึ่งที่เงินกับตัวเลขวัดไม่ได้คือความสุข เอาความสุขไปใส่ในเป้าหมายด้วยสิ ทำงานทุกวันต้องสุข ไม่ใช่เครียดทั้งวัน ตื่นเช้าอยากมาทำงานหรือเปล่า ลูกค้าซื้อสินค้าแล้วสุข ไม่ใช่ซื้อไปแล้วบ่น คนในชุมชนก็สุขเมื่อโรงงานเราไปตั้ง ไม่ใช่เดินขบวนประท้วงแล้วด่าเราตลอด ขณะเดียวกันสังคมก็มีความสุขที่มีธุรกิจลักษณะนี้อยู่ สิ่งแวดล้อมก็ได้ประโยชน์จากธุรกิจที่ไม่ไปทำร้าย สิ่งที่เรียกว่าประโยชน์และความสุขไม่ใช่เกิดจากตัวผู้ถือหุ้น แต่มันย้อนกลับไปถึงคนที่เกี่ยวกับธุรกิจทั้งหมด
ย้อนกลับไปดู มันคือหัวใจของการประสบความสำเร็จทั้งปวง คือ 1 ใน อิทธิบาท 4 (หนทางสู่ความสำเร็จ) คือรักและสุขกับสิ่งที่ทำ หลงรักในงานที่ทำ วันไหนรักงานที่ทำ 5 โมงเย็นยังไม่หยุดคิด ยังสนุกกับมัน คนที่ชอบแฟชั่น ก็จะเห็นอะไรเป็นนวัตกรรมได้หมด ตรงข้ามกับโดนบังคับ เช่น ทำงานได้เงินน้อยก็ไม่
และคำว่ายิ่งให้ยิ่งได้ มันเป็นคำมหัศจรรย์ ยิ่งอยากได้ยิ่งไม่ได้ แค่คิดก็ร้อนแล้ว เพราะเราต้องคิดว่าจะใช้กลยุทธ์ไหน ถ้าไม่ได้เป้าก็ร้อนแล้ว พอได้มา เป้าวิ่งหนีเพราะอยากได้มากขึ้นไปอีก ยกตัวอย่าง ถ้าเราอยากให้พนักงานมีสวัสดิการที่ดี มีชีวิตที่ดี ทำงานแล้วมีความสุข ท่านเชื่อมั้ยเค้ากลับยิ่งมีกำลังใจในการทำงานมากกว่าเงินที่ให้อีก เราอยากให้ลูกค้าได้ของที่ดี เค้าก็ประทับใจและบอกต่อให้คนอื่นมาซื้อของเรา เราปฏิบัติกับชุมชน ไม่เอาเปรียบเค้า เค้าเอาลูกหลานมาทำงานกับเรา สุดท้ายสังคมจะกลับมาเกื้อหนุนเราโดยที่เราไม่รู้ตัว เรื่องสิ่งแวดล้อมก็เช่นกัน เราบอกธุรกิจเราไม่ได้ใช้ทรัพยากรเยอะ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราใช้น้ำใช้ไฟ ทุกธุรกิจทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ไม่มากก็น้อย ถึงจุดหนึ่งเราควรต้องทดแทนบุญคุณสิ่งเหล่านั้น
เพราะฉะนั้นสามคำที่เราเอามาใช้ (สมดุล ความสุข ความรัก) นี่เป็นเคล็ดลับในการขับเคลื่อนดำเนินธุรกิจตามแนวทางพระราชดำริ
แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือทำให้สมดุลปรับตัวให้ได้กับการเปลี่ยนแปลง รู้เรา รู้เขา รู้โลก รู้เราคือรู้จักพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด รู้เขา คือมีเหตุมีผล ปฏิบัติต่อผู้อื่นที่ไม่ใช่คู่แข่ง รู้โลก รู้ว่าโลกเปลี่ยนแปลงอย่ารวดเร็วทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นวัตถุนิยม บริโภคนิยม วัฒนธรรมตะวันตกที่ไหลบ่า เราเป็นประเทศที่ไม่ค่อยภูมิใจในวัฒนธรรมของตัวเอง สิ่งแวดล้อมที่กำลังล่มสลายเร็วขึ้น ป่าในประเทศไทยแทบจะไม่เหลือแล้ว เราก็ยังจะเอาป่าไปสร้างเขื่อนอีกเยอะแยะเลย สุดท้ายถ้าไม่มีป่าน้ำก็ไม่มี ป่าบ้านเราเหลือ 10 กว่า % ป่าเพื่อนบ้านมี 80% สิ่งแวดล้อมไม่สมดุล ธรรมชาติก็มาเตือนเรา แผ่นดินไหว น้ำท่วม ถ้ามีป่าน้ำจะมาแค่ 50% อีก 30% ป่าจะค่อยๆ ดูดซับน้ำ และปล่อยน้ำลงลำน้ำตลอด 11 เดือน อีก 20% ไหลลงใต้ดินเป็นน้ำบาดาล ให้เราได้ใช้อีก 11 เดือน เพราะฉะนั้นธุรกิจต้องไม่ทำร้ายเค้า
คำว่าอยู่ตัวมันขึ้นกับว่า มันสมดุลมากขึ้นหรือเปล่า อาจไม่มีตัวเลขวัด แต่สมดุลคือเราเริ่มปรับตัวแล้วเริ่มแข่งขันกับต่างประเทศได้ หลังจากทำไป 3-4 ปีก็เริ่มเห็นผลว่าสมดุลมากขึ้น ค่อยๆ เริ่มส่งออก พนักงานค่อยๆ ชวนญาติพี่น้องมาทำงาน เทิร์นโอเวอร์ลดลง ลูกค้าเริ่มรู้สึกรักแบรนด์ แนะนำคนอื่นมาซื้อ แต่ต้องทำไปเรื่อยๆ เหมือนการปลูกต้นไม้ ต้องไม่ใจร้อน ทุกอย่างบนโลกนี้อะไรที่เร็วเกินธรรมชาติก็ไม่ดี ทำธุรกิจยังไงให้กลมกลืนกับธรรมชาติ นั่นก็คือ ธรรมะ นั่นเอง ธรรมะอยู่รอบๆ ตัวเรา แค่หางตา แค่ปลายจมูก เรามองไกลเกินไป ขณะเดียวกันธรรมชาติคือสัจธรรม ความจริงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อไม่ได้อย่างใจเราก็ทุกข์ เปลี่ยนแล้วดีขึ้นอย่างใจก็สนุก ทุกอย่างรอบตัวก็เป็นเช่นนั้นเอง แต่เราเอาตัวเราไปตัดสิน พอไม่ได้เราก็เครียด ทุกข์ ระบายกับคนรอบข้าง พอกำไรน้อยก็ไปลดเงินเดือนพนักงาน ยิ่งไปทำแบบนั้นมันก็ย้อนกลับมาเป็นลูกโซ่
มีเยอะเลย เป็นที่น่าเซอร์ไพรส์คือสินค้าเราได้รับรางวัลจากรัฐบาลเยอรมัน 4 ปี ในรอบ 5 ปี เป็นรางวัลที่ใหญ่ที่สุด เราได้รางวัลที่คนแข่งกันมากที่สุดในโลกเหมือนออสก้าร์ของการออกแบบ ชื่อรางวัล Reddot design award (รางวัลการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม) 5 ปีซ้อน รางวัลจากญี่ปุ่นสิบกว่ารางวัล รวมแล้วมากกว่า 60 รางวัล เช่น ล่าสุด อ่างอาบน้ำสำหรับผู้สูงอายุ รุ่น Mars เป็นอ่างลอยตัวเหมือน ยานอวกาศ การเปิดประตูเหมือนระบบเปิดประตูรถยนต์ Lamborghini การเรียกขอความช่วยเหลือ ใช้มือเคาะ 2 ครั้ง มันจะส่ง sms ไปให้บุตรหลาน เราสามารถวัดจุดการนวดเท้าเหมือน Thai Massage Build เข้าไปที่อ่าง อ่างอาบน้ำที่ประหยัดที่สุด ใช้น้ำ 80 ลิตร เท่ากับอาบฝักบัว แล้วบางที่สุด เกิดขึ้นในเมืองไทย ราวจับในห้องน้ำเป็นวัสดุใหม่ของโลกที่ไม่ใช่สแตนเลส นิ่มไม่ลื่น ปรับองศาได้ ก๊อกน้ำที่ดัดได้ หัวฝักบัวที่เหมือนกิ่งไม้มาต่อกันได้เหมือนเลโก้ต่อได้ไม่รู้จบ โถปัสสาวะที่ใช้ปัสสาวะสั่งงาน เราทำสิ่งที่โลกยังไม่เคยมี
ยุคแรกผมเป็นคนไกด์ เราอยากทำอะไรที่โลกไม่เคยมี โดยเน้น 6 มิติ คือ Design Function Technology Material Social และ Environment (สังคมและสิ่งแวดล้อม) หลังจากนั้นผมเริ่มวางมือจากธุรกิจประมาณปี 50 ผมเริ่มเกษียณตัวเองแล้วหาผู้บริหารที่ทำงานกับเราตั้งเป็น MD ผมก็เป็นที่ปรึกษาเข้าประชุมใหญ่ๆ เค้าทำงานได้ดีกว่าผมเสียอีก ปัจจุบันเรามีทีมงานออกแบบประมาณ 30 คน พนักงานประมาณ 500 คน ตอนนี้วางมือได้แล้วเพราะไม่ถึง 1 ใน 3 ของเวลาในการใช้ชีวิต บางทีผมเข้าออฟฟิส 100 วัน อีก 100 วันเราทำงานแบ่งเป็นสองส่วน 1 ใน 3 ผมเป็นอาจารย์พิเศษกว่า 20 มหาวิทยาลัย และหน่วยงานภาครัฐ ผมสอนหลักสูตรของ ก.พ. เกือบทุกหลักสูตร นบส., นปส., ส.นบส. บริหารการทูต บริหารการคลัง อีกส่วนคือทำงานกับมูลนิธิและองค์กรภาครัฐ เป็นกรรมการและอนุกรรมการกว่า 10 องค์กร ที่ทำงานประจำอยู่ เช่น กรรมการศูนย์คุณธรรมองค์การมหาชน บสย. รัฐวิสาหกิจประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ผมช่วยงานที่หอการค้า ตลาดหลักทรัพย์ ผมเป็นกรรมการ CSR AWARDS แล้วก็มีทำงานกับ กยส. กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นกรรมการและเลขานุการรางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อาทิตยห์หน้าต้องเดินทาง ไปร่วมงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครูเจ้าฟ้าฯ ครูผู้เสียสละทำงานในพื้นที่เสี่ยงภัยใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และพื้นที่ทุรกันดารใน 9 จังหวัดภาคเหนือ รวม 5 รุ่น ในการตัดสินรางวัลนี้ผมต้องลงพื้นที่โรงเรียนเกือบทุกโรงเรียน แล้วมีการมอบรางวัลที่ส่งเสริมให้ครูเป็นต้นแบบ และงานทุนการศึกษาด้านสาธารณสุขของสมเด็จย่า ผมเป็นกรรมการบริหารอยู่ เดือนหน้าก็เดินทางตลอด ผมก็แบ่งเวลาให้สมดุล
ที่บอกว่าผมทำงานเยอะ ไม่หรอกครับ พระเจ้าอยู่หัวท่านทรงทำมากกว่าเราเป็นพันเท่า ท่านทำมาแล้ว 4,350 โครงการ มีโครงการใหม่ๆ ทุก 1 อาทิตย์ 2 โครงการ สมัยที่ท่านยังมีพระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรงอยู่ และเป็นโครงการที่ยังดำเนินงานอยู่จนถึงปัจจุบัน ผมได้มีโอกาสช่วยงาน สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ในโครงการขยายผลการประยุกต์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการบริหารงานให้คนไทยได้รับรู้มากขึ้นคนไทยส่วนใหญ่เห็นพระเจ้าอยู่หัวด้วยตา ได้ยินเสียงพระองค์ท่านด้วยหู แต่น้อยคนที่จะสัมผัสพระองค์ท่านด้วยใจ และลุกขึ้นมาน้อมนำคำสอนของพระองค์ท่าน ตอบแทนบุญคุณของพระองค์ท่านด้วยการปฏิบัติ
เป้าหมายของมนุษย์ทุกคนเดินตามทางนี้ได้ไม่ยาก ถ้าเข้าใจคำว่าคุณค่าของชีวิต ไม่ใช่มองว่าเราจะทำธุรกิจให้ได้กำไรเท่าไหร่ ไม่ได้เกิดมาเพื่อทำมาหากินอย่างเดียว สุดท้ายเราก็ต้องวางทุกอย่างไว้แล้วจากโลกนี้ไป ถ้าเราตั้งเป้าว่าเราจะเกิดมาเพื่อทำให้ชีวิตเรามีค่า ถามต่อว่าร่ำรวยแล้วมีค่าหรือเปล่า อาจจะไม่ใช่ ต้องมีชื่อเสียงหรือเปล่า อายุยืนหรือเปล่า บางคนอายุยืน แต่ไม่ได้ทำอะไรเลย ชีวิตที่มีค่าคืออะไร คือชีวิตที่ตัวเราเป็นคนมีคุณค่าและทำให้ชีวิตคนอื่นมีค่า เราต้องมาดูว่าตอนนี้เรามีคุณค่าอะไรกับคนอื่นบ้าง งานของผมที่มีค่าคือได้เป็นอาจารย์พิเศษ ได้เผยแพร่แนวคิดของพระองค์ท่าน และอีกงานคืองานจิตอาสาตามมูลนิธิต่างๆ อย่างผมมาบรรยายให้ THE BOSS 7-8 ปีแล้ว ยังไม่เคยเอาเงินที่ได้จาก THE BOSS มาใช้ส่วนตัวเลยแม้แต่บาทเดียว ผมตั้งเป็นกองทุนให้การศึกษากับเด็กด้อยโอกาสบนดอย และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมเดินทางไปทำงานที่ไหนไม่เคยเบิกเงินใคร ผมใช้เงินของธุรกิจผมเอง ยิ่งให้ก็ยิ่งกลับมา ทำให้เรามีความสุข และคนอื่นก็มีความสุขด้วย
ไม่แน่ใจ ผมได้รับเชิญจาก อ.ศิริชัย สาครรัตนกุล ท่านบรรยายเรื่อง CSR ท่านบรรยายในแนวทฤษฎี ท่านเชิญผมมาเป็นเคส ว่าเราทำ CSR อย่างไร ผมก็ยกหัวข้อ CSR ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เวลาไปบรรยายผมจะไม่บรรยายอะไรในมิติเดียว อย่างผมไปบรรยายเรื่องนวัตกรรม ผมก็จะบรรยายนวัตกรรมตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าเชิญไปคุยเรื่องการบริหารก็จะบรรยายการบริหารตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพราะเป็นแนวทางที่กว้างและลึกกว่าที่คนไทยควรได้รับรู้
ทุกวันของผมคือวันพักผ่อน ไม่จำเป็นต้องเป็นวันอาทิตย์ เราอยู่ตรงไหน เราทำงานอะไรแล้วมีความสุข นั่นก็คือการพักผ่อน
เรามองลูกค้าเหมือนคนในครอบครัว ช่วงแรกคำว่ากำไร อาจไม่ใช่เงินอย่างเดียว บางทีเราทำให้เค้าประทับใจ เค้าย้อนกลับมาเป็นลูกค้าประจำ แนะนำคนอื่นมาซื้อต่อ บางครั้งโครงการนี้กำไรน้อย โครงการนี้ขาดทุน ผมไม่ได้มองแค่ตัวเลข แต่เราให้เขาประทับใจ นำของไปขายต่อได้ด้วย จุดนี้ถือว่า Win-Win ยิ่งให้ยิ่งได้ คำว่า Win-Win ไม่ใช่ว่าใครจะ Win ก่อน เราจะ Win กับใครเราต้องยอมเสียสละ สุดท้ายมันจะกลับมา Win เหมือนกันเราอยากให้ใครรักเรา เราต้องรักเค้าก่อน กับพนักงานก็เช่นกัน เราต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา บางครั้งคำพูดโดยไม่ได้คิดของผู้นำ อาจอยู่ในใจบางคนไปทั้งชีวิต ผู้นำไม่ควรพูดทุกคำที่คิด แต่ควรคิดทุกคำที่พูด สิ่งต่างๆ เหล่านี้เรียกว่า Wn-Win
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้ต้องการให้ประเทศไทยเป็นที่ 1 ของโลกด้านร่ำรวยที่สุด แต่ขอให้เมืองไทยเป็นประเทศที่มีคนช่วยเหลือซึ่งกันและกันมากที่สุดในโลก ถ้าเปรียบเทียบกับองค์กร ต่อให้ได้กำไรมากเพียงใด ถ้าคนในองค์กรไม่สามัคคีกัน ไม่รักกันเลย จะเลื่อยขาเก้าอี้กันตลอด และพร้อมเอาเปรียบลูกค้า องค์กรนั้นจะไม่ยั่งยืน ถ้าองค์กรไหนรักและสามัคคีกัน มันจะผ่านไปได้ไม่ยาก
ส่วน Win-Win ระหว่างองค์กรกับองค์กร เช่นเราซื้อของใคร เราก็ไม่ชอบโดนใครยืดเช็ค ไม่ชอบให้ใครหาทางหลบเลี่ยง ก็ต้องปฏิบัติดีกับเค้า ซื่อตรงกับเค้า พอปีใหม่คู่ค้าเอาของขวัญปีใหม่มาให้เยอะเลย เรามีอะไรก็แบ่งปัน บางทีเค้ามีนวัตกรรมใหม่ๆ ก็มานำเสนอเราก่อน เราก็เอาไปพัฒนาต่อได้
ต้องถามตัวเองว่าทุกวันนี้คุณทำธุรกิจแล้วมีความสุขหรือเปล่า คนรอบข้างสุขหรือเปล่า ส่วนใหญ่จะสุก (สะกดด้วย ก.ไก่) มากกว่า สุกร้อน สุดท้ายก็เผาเราเอง วิ่งช้าลงหน่อย ใช้ชีวิตช้าลงหน่อย ต้องรู้จักเปรียบเทียบ ถ้าเราเปรียบเทียบกับคนที่มีมากกว่าตลอด คุณก็จะด้อยตลอด ถ้าเทียบกับคนที่มีน้อย คุณก็จะมีมาก ความสุขเกิดจากเรารู้จักเปรียบเทียบ ถ้าเราเทียบกับอดีตที่ไม่เคยมีธุรกิจเลย มาวันนี้เรามีธุรกิจแล้ว ก็จะสุข พอธุรกิจขาดทุน ก็ต้องคิดว่า ที่ผ่านมาเราก็กำไรมาพอสมควรนะ ขาดทุนบ้าง เป็นการสอนเรา ว่าจุดไหนคือจุดอ่อน แล้วพลิกวิกฤตเป็นโอกาส มีกำไรก็อย่าเหลิง ต้องมองอนาคตว่า เศรษฐกิจก็ไม่ได้ดีตลอด ความสุขจะง่ายขึ้น อย่าเอาความสุขไปตั้งที่ตัวเลขอย่างเดียว ความสุขเกิดจากการให้ นักธุรกิจต้องค้นหามุมมองความสุขของตัวเองให้เจอ อีกอย่างคือต้องให้ความรัก รักคนอื่นให้เหมือนคนในครอบครัว สุดท้ายธุรกิจต้องสมดุล เรียนรู้หาวิธีพึ่งพาตนเอง ไม่กู้มากจนเกินไป ใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่าที่สุด ตามหลัก 3R คือ Reduce Reuse Recycle ปฏิบัติกับพนักงานอย่างเป็นธรรม ปรับตัวกับการสร้างแบรนด์ สร้างนวัตกรรมและการส่งออก เรียนรู้เรื่องการพัฒนามาตรฐาน การประกันความเสี่ยงต่างๆ และต้องกลับไปเป็นที่พึ่งให้คนอื่น