ไทย Eng
 


พูดคุยกับคุณสินทร กัณธวงศ์

นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
(The Boss รุ่นที่ 74)

 

 

ก่อนหน้านี้ หลายท่านอาจจะรู้จักคุณสินทร กัณธวงศ์ ในฐานะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงพาณิชย์ แต่ปัจจุบัน คุณสินทรคือสมาชิก The Boss รุ่นที่ 74 ซึ่งนอกจากเป็นเพื่อนร่วมสถาบันฯ แล้ว ท่านยังมีโอกาสได้แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ให้กับเพื่อนๆ ในฐานะวิทยากรของ MPI อีกด้วย ดังนั้นฉบับนี้เราจึงขอแนะนำให้เพื่อนๆ ได้รู้จักคุณสินทรให้มากขึ้น ทั้งในเรื่องหน้าที่การงานและมุมมองทางธุรกิจของท่าน

 


ประวัติการทำงานของผมเป็นงานราชการที่กระทรวงพาณิชย์มาโดยตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 จนถึงปี พ.ศ.2554 (ขอเกษียณอายุก่อนกำหนด) รวมเป็นเวลากว่า 35 ปี แต่กว่าครึ่งของอายุราชการเป็นการปฏิบัติงานในต่างประเทศเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 ในตำแหน่งเลขานุการโท (ฝ่ายการพาณิชย์) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ และตำแหน่งสุดท้ายในต่างประเทศช่วงปี พ.ศ. 2543-2550 เป็นอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร โดยถือว่าการทำงานในตำแหน่งดังกล่าวต้องเกี่ยวข้องกับทางธุรกิจค่อนข้างมาก เพราะตามหน้าที่ต้องเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งในเวลาต่อมาการทำธุรกิจได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปตามสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป สืบเนื่องจากประเทศต่างๆ ได้ออกระเบียบและกำหนดมาตรการใหม่ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจการค้าระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ทำให้นักธุรกิจไทยได้หันไปสร้างฐานธุรกิจในต่างประเทศทั้งในการขยายเครือข่ายธุรกิจ การไปลงทุน และการออกไปประกอบธุรกิจในประเทศต่างๆ มากขึ้น ทำให้การปฏิบัติงานในหน้าที่มีความหลากหลายและประเด็นปัญหาต่างๆ ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ส่วนราชการไทยที่เป็นตัวแทนประจำอยู่ในต่างประเทศต้องเข้าไปมีบทบาทช่วยแก้ไขปัญหา โดยต้องศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นปัญหาใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งแนวทางที่ดีที่สุดก็คือการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับภาคธุรกิจเอกชน เพื่อเรียนรู้ประเด็นปัญหาและเข้าใจสภาพธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งร่วมมือกันในการแก้ปัญหา ช่วยให้ผมได้ซึมซับความรู้ทางธุรกิจและมีเพื่อนที่เป็นนักธุรกิจสนิทสนมกันมาก็มาก ส่วนตำแหน่งหน้าที่ช่วงสุดท้ายเป็นงานที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในตำแหน่งหัวหน้าส่วน ญี่ปุ่นและเกาหลี ที่ขณะนั้นอยู่ในขั้นตอนช่วงสุดท้ายของการเจรจาทำความตกลงการค้าทวิภาคีสองฝ่ายระหว่างไทยและญี่ปุ่น และความตกลงการค้าอาเซียนกับทั้งสองประเทศคือทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ จากนั้นก็ได้ย้ายไปรับตำแหน่งที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานด้านอาเซียนเป็นหัวหน้าส่วนการรวมกลุ่มเศรษฐกิจอาเซียน และสุดท้ายในตำแหน่งนักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญรับหน้าที่เกี่ยวกับการเผยแพร่สร้างความรู้ความเข้าใจกับภาคส่วนต่างๆ ในประเทศ โดยเฉพาะภาคธุรกิจเอกชน เพื่อการเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ที่เรารับทราบดีแล้วว่าจะเริ่มต้นในปี พ.ศ.2558 หรือภายในช่วงไม่เกิน 2 ปีข้างหน้านี้


หลักๆ แล้วก็เป็นงานบรรยายในการฝึกอบรมสัมมนาให้กับ MPI และองค์กรอื่นบ้างตามที่ได้รับการ ติดต่อมา รวมทั้งร่วมทำกิจกรรมกับสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นในการส่งเสริมเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียน และ AEC แก่เยาวชน นักเรียน นักศึกษาในระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยบางแห่งบ้างเป็นครั้งคราว

 

ยึดหลักการสร้างความสมดุลในการดำเนินชีวิตประจำวัน ทั้งด้านงานในหน้าที่รับผิดชอบ และ ชีวิตส่วนตัว รวมทั้งแบ่งเวลาให้กับการดูแลรักษาสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ และการพักผ่อนอย่างเพียงพอ โดยต้องรวมถึงการพยายามดูแลด้านจิตใจให้สงบผ่อนคลายไม่ให้เครียดมากจนเกินไปจากสภาพแวดล้อมทางสังคมยุคปัจจุบัน ส่วนในด้านชีวิตครอบครัวถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่เราต้องมีเวลาให้กับครอบครัวและใช้เวลาอยู่กับครอบครัวให้มากอย่างพอเหมาะพอควร นอกจากนั้น การได้ทำงานช่วยเหลือสังคมและผู้คนรอบข้างบ้างตามแต่โอกาส และการได้พบปะสังสรรค์กับมิตรสหายบ้าง ก็จะช่วยให้เรารู้สึกว่าได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้คนในสังคมรอบข้างอย่างเป็นสุข

 

 

 

ผมได้เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมกับ MPI โดยการชักชวนของอาจารย์พิเชษฐ์ เวชสุภาพร เริ่มจากการ ร่วมเป็นวิทยากรผู้บรรยายในโครงการสัมมนา AEC Perspective for the Boss เมื่อเดือนมกราคม 2555 และร่วมกิจกรรมอื่นๆ กับ MPI เรื่อยมาตามแต่โอกาส ต่อจากนั้นก็ได้เข้าร่วมการฝึกอบรม The Boss รุ่นที่ 74 จนจบหลักสูตรในช่วงกลางปี 2555


ผมไม่ขออ้างอิงให้ไกลตัวมาก ขอยกตัวอย่างเมื่อช่วงปลายปี 2555 ได้ร่วมกับ MPI จัดคณะนัก ธุรกิจสมาชิก The Boss ไปสำรวจโอกาสทางธุรกิจผ่านเส้นทาง R3A ที่เป็นเส้นทางถนนเชื่อมโยง จากไทยที่ อ.เชียงของ ผ่านสปป.ลาวไปยังคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งในการจัดครั้งนั้นทาง MPI กำหนดเป็นรูปแบบของการสัมมนาเคลื่อนที่ โดยเป็นการสำรวจสภาพข้อเท็จจริงที่ได้พบเห็นในแต่ละวันแล้วมีการวิเคราะห์สรุปและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันระหว่างวิทยากรที่เป็นอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิของ MPI กับนักธุรกิจที่ร่วมเดินทางไปกับคณะ ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากเพราะเป็นการผสมผสานความรู้เชิงวิชาการ และประสบการณ์ในเชิงธุรกิจ แล้วที่ได้เห็นก็คือนักธุรกิจที่ร่วมไปกับคณะยังได้เพิ่มพูนความสัมพันธ์สนิทสนมกันมากขึ้น ช่วยเสริมสร้างบรรยากาศความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและทรรศนะในแง่มุมที่ต่างกันไปตามสาขาธุรกิจที่แต่ละคนได้ผ่านประสบการณ์ที่ผ่านมาโดยเปิดเผย ทำให้ได้ข้อคิดและแง่มุมมองที่หลากหลายเกินกว่าที่คาด ผมว่านี่เป็นสปิริตของ The Boss ที่ควรรักษาไว้ ในส่วนของ MPI นั้นก็นับว่ามีบทบาทเป็นแกนกลางในการประสานความสัมพันธ์และความร่วมมือดังกล่าว รวมทั้งให้ความรู้เชิงวิชาการและถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านทางคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ จึงเห็นว่าความสัมพันธ์ร่วมมือดังกล่าวเป็นการได้ประโยชน์ร่วมกันหรือ Win-Win ด้วยกันทุกฝ่าย

 


ก่อนอื่นขอกล่าวถึงการที่ประเทศไทยร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดจะก้าวไปสู่การเป็น ประชาคมอาเซียน และในทางเศรษฐกิจก็จะรวมกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 หมายถึงว่าอาเซียน 10 ประเทศจะรวมตัวและเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น มีการคมนาคมขนส่ง และการท่องเที่ยวไปมาหาสู่กันอย่างสะดวกยิ่งขึ้น การทำการติดต่อซื้อขายสินค้า ธุรกิจบริการ การลงทุน และการเคลื่อนย้ายเงินทุน วัตถุดิบ แรงงาน จะทำได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ขอให้เข้าใจว่าขอบเขตของ AEC ไม่เพียงเฉพาะอาเซียน 10 ประเทศเท่านั้น แต่อาเซียนยังได้ทำความตกลงเขตการค้าเสรีเชื่อมโยงกับนอกภูมิภาคและประเทศต่างๆ ที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศที่มีบทบาทสำคัญในเอเชียได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ที่รวมแล้วเป็นตลาดที่ใหญ่มหึมาและกำลังเพิ่มบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ จึงถือได้ว่าเป็นช่วงโอกาสทองสำหรับประเทศไทยที่ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้บ่อยนักในรอบอีกหลายทศวรรษ เพราะดูจากทำเลที่ตั้งของไทยที่มีศักยภาพสูงมากที่จะสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงในหลายๆ ด้านของภูมิภาค แต่ก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมของไทยว่าจะสามารถฉกฉวยโอกาสที่จะเกิดขึ้นนี้ได้เพียงใด เรามักได้ยินคำถามนี้บ่อยๆ ว่า “ประเทศไทยจะแข่งขันได้ไหม” หรือ “เราจะเสียเปรียบเขาไหม” บ่งบอกถึงทัศนคติเชิงลบและความไม่เชื่อมั่นในตัวเอง ช่วงหลังๆ นี้จะเห็นได้ชัดว่าคนไทยเรามีความหวาดระแวงและขาดความเชื่อมั่นอย่างมาก

ผมกลับเห็นว่าประเทศไทยยังมีขีดความสามารถที่จะแข่งขันได้ดีหากเราสามารถแก้ไขปัญหาภายในและพัฒนาเตรียมความพร้อมให้ดีขึ้นกว่านี้ จริงอยู่เราอาจไม่ได้เปรียบทุกอย่างหรือเก่งไปเสียทั้งหมดทุกด้าน อาจมีบางจุดที่เราอ่อนด้อยกว่าก็ต้องยอมรับและเร่งพัฒนาแก้ไขกันไป และเข้าใจความเป็นจริงว่าหากเราได้เปรียบเขาหมดทุกอย่าง ก็คงไม่มีใครอยากจะมาร่วมมือหรือเข้ากลุ่มกับเรา ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้วเรามีความตกลงการค้าเสรีฉบับแรกก็เป็นความตกลงเขตการค้าเสรีของอาเซียนมาตั้งแต่ปี 2535 เกินกว่า 20 ปีแล้ว ก็ไม่เห็นว่าเราได้รับผลกระทบหรือเสียเปรียบมากมายแต่อย่างใด ตรงกันข้ามเรากลับไปได้เปรียบดุลการค้ากับอาเซียนเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ เรามีบริษัทไทยจำนวนไม่น้อยได้ย้ายฐานการลงทุน และขยายเครือข่ายธุรกิจในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนมากขึ้น ดังนั้น ผมจึงอยากให้นักธุรกิจไทยมีทัศนคติเชิงบวกกับเรื่องนี้ และเร่งเตรียมการรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในภูมิภาค เพื่อพร้อมจะฉกฉวยโอกาสทองดังกล่าว โดยเห็นว่านักธุรกิจไทยควรจะมีทัศนคติเชิงบวก และกำหนดกลยุทธ์เชิงรุกมากขึ้น พร้อมที่จะขยายการดำเนินธุรกิจออกไปสู่ต่างประเทศ ซึ่งอาเซียนเป็นตลาดที่อยู่ใกล้เรามากที่สุดที่นักธุรกิจไทยมีขีดความสามารถที่จะแข่งขันได้ไม่ด้อยไปกว่าใคร แต่ควรจะเตรียมการและศึกษาข้อมูลอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรทราบเกี่ยวกับข้อมูลและลู่ทางการใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามข้อตกลงที่เรามีอยู่กับอาเซียนรวมถึงตลาดประเทศอื่นๆ ที่มีข้อตกลงกับอาเซียน ซึ่งจะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจกับประเทศต่างๆ เหล่านี้อย่างมาก