ไทย Eng
 


ค่าแรง 300 บาท จะทำอย่างไร

     ระยะนี้เริ่มได้ยินเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องสินค้าราคาแพงหลาย รายการ บวกกับมาตรการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ที่ประกาศใช้มา ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2555 แล้ว และจะมีผลทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2556 บางคนเห็นด้วยบาง คนไม่เห็นด้วย แต่ที่แน่ๆ คือต้องเผชิญหน้ากับมาตรการนี้แน่นอน หลายฝ่าย ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงผลกระทบต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นบรรยากาศแบบนี้ทำ ให้ผม นึกย้อนหลังไปตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2522 ซึ่งผมและพี่ๆ ได้ร่วมกันเปิด ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ทันทีที่เปิดดำเนินการ ก็ได้รับความนิยมจาก ลูกค้า อย่างล้นหลาม ทำให้มีการขยายสาขาอย่างรวดเร็ว และประสบความ สำเร็จด้วยดี ซึ่งเบื้องหลังความสำเร็จของห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ในขณะนั้น องค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ “พนักงาน”เพราะการบริหารห้าง สรรพสินค้า ก็คือการ “บริการ” นั่นเอง การบริการต้องมี “บริกร”ที่ทำงานด้วยใจ มิใช่ด้วยกฎระเบียบ

ตั้งแต่วันแรกที่เราเปิดดำเนินการธุรกิจโรบินสัน เราประกาศกับ พนักงานทุกคนว่าเราเป็น “เพื่อนร่วมงาน” ไม่ใช่ ”นายจ้าง กับลูกจ้าง” และเราจะอยู่ร่วมกันแบบ “พี่กับน้อง” ซึ่งคณะผู้ก่อ ตั้งทุกท่านเห็นพ้องต้องกันกับแนวคิดนี้ มีการปฏิบัติอย่าง เป็นรูปธรรม เช่นการเรียกพนักงานเป็น “เพื่อนร่วมงาน” การจ่ายเงินเดือนในทุกๆ เดือนโดยผ่านการโอนเข้าบัญชี ธนาคาร (ในยุคนั้นยังมีองค์กรน้อยมากที่จ่ายเงินเดือนโดยผ่าน การโอนผ่านบัญชีธนาคาร) เพื่อไม่ให้เกิดภาพที่พนักงาน จะต้องมารับซองเงินเดือนเป็นเงินสด จากหัวหน้างานหรือ ฝ่ายการเงิน เหมือนเป็น “ค่าจ้าง” และยังมีธรรมเนียมปฏิบัติ อีกหลายอย่างเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย “เพื่อนร่วมงาน” นี้

จากสภาวะเศรษฐกิจของประเทศในขณะนั้น ที่มีการเติบโตอย่าง รวดเร็ว ค่าครองชีพสูงขี้นตาม GDP ที่สูงถึงสองหลัก (Double digit) ในรอบหลายปี ส่งผลให้ทางราชการมีการปรับอัตราแรงงาน ขั้นต่ำเกือบทุกปี ซึ่งในแต่ละครั้งที่มีการประกาศขึ้นค่าแรงงาน ขั้นต่ำ ผู้บริหารธุรกิจก็ต้องมีการประชุมปรึกษาหารือกัน เพื่อให้ ดำเนินการด้วยความรอบคอบโดยมีวัตถุประสงค์4ด้านคือ

1.พนักงานพอใจโดยส่วนตัว

2.พนักงานพอใจในกฎเกณฑ์ความเหมาะสมเป็นธรรม (Fair)

3.องค์กรสามารถรับภาระได้

4.แข่งขันกับอุตสาหกรรมเดียวกันได้

ดังนั้น ผลสรุปในแต่ละครั้งจึงมีต่างๆ กันไป เช่น ขึ้นเงินเดือน, เพิ่มค่าครองชีพ, เพิ่มสวัสดิการ, เพิ่มค่าวิชาชีพ ฯลฯ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของพนักงานในองค์กรใน แต่ละปี ผู้บริหารจึงต้องมีความใกล้ชิดกับพนักงานมาก จึงจะ สามารถ ตัดสินใจได้ถูกว่า ช่วงนี้ ปีนี้ ควรจะดูแลพนักงานด้านใดจึง จะเหมาะสม ซึ่งก็สามารถผ่านมาด้วยดี พนักงานส่วนใหญ่มีความรักในองค์กร จนสามารถเรียกได้ว่ามีความจงรักภักดี (Loyalty) ต่อองค์กร

ในอีกด้านหนึ่งของบัญชี กำไร-ขาดทุน เมื่อมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นจาก การปรับรายได้และสวัสดิการของพนักงานย่อมต้องมีการลดรายจ่าย และเพิ่มรายรับ เพื่อให้เกิดสมดุลย์ การลดจำนวนพนักงานเป็น สิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงเด็ดขาดแต่การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ของพนักงานเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง พนักงานคนหนึ่งมีค่าใช้จ่าย 100 บาท สามารถทำงานได้ 100 หน่วยแต่เมื่อพนักงานมีค่าใช้ จ่ายสูงถึง 140 บาท เขาควรมีความสามารถทำงานได้อย่างน้อย 140 หน่วย

ดังนั้นการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือจึงต้องทำควบคู่กับการปรับค่าแรงงาน อาจจะดูว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเข้ามาอีก ยิ่งทำให้องค์กรแบกรับ ภาระหนักขึ้น แต่แท้ที่จริงแล้ว งบประมาณ “ค่าฝึกอบรม” เป็นงบลงทุน (Investment) ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายสิ้นเปลือง (Expense) ซึ่งเมื่อพนักงานได้รับการฝึกอบรมพัฒนาแล้ว ก็จะมีศักยภาพสูงขึ้น สมควรที่จะได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้รับผิดชอบงานที่มากขึ้น การปรับโครงสร้างผังองค์กร (Organization) ก็ตามมา

เมื่อพนักงานมีศักยภาพมากขึ้น ทำให้ธุรกิจเจริญเติบโตเร็ว ก็สามารถขยายกิจการ ขยายสาขาออกไปอีก เป็นการรองรับบุคลากรที่เลื่อนตำแหน่งขึ้นมา ทั้งหมดนี้เกี่ยวพันกันเป็นลูกโซ่ เป็นวงจรแห่งการพัฒนาคนและพัฒนาองค์กรควบคู่กันไป

สรุปก็คือ

คนเพิ่มรายได้ ฝึกอบรมเพิ่มศักยภาพ ปรับองค์งานเพื่อรองรับ คนเลื่อนตำแหน่ง ธุรกิจเติบโต-ขยาย รองรับตำแหน่งใหม่ที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ถ้าจะเปรียบเทียบกับสภาพของ การบริหารเศรษฐกิจในขณะนี้ ให้เข้าใจง่ายๆ อาจเสนอได้ดังนี้

1.เพิ่มค่าแรงงาน
2.พัฒนาฝีมือแรงงานให้เหมาะสมกับค่าแรงใหม่
3.ธุรกิจปรับระบบการทำงานให้สามารถใช้แรงงานที่มีฝีมือได้ และลดการใช้แรงงานไร้ฝีมือ
4.การก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเชี่ยน (AEC) ธุรกิจต้องเติบโต-ขยาย ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ ที่เป็นเศรษฐกิจระดับภูมิภาค

ในสภาวะการณ์เช่นทุกวันนี้ ผู้ประกอบกิจการและพนักงาน ต้องมีการตื่นตัว เรียนรู้ และปรับตัวตลอดเวลา ผมหวังว่า แต่ละองค์กรจะสามารถเข้าสู่ตลาดในอนาคตได้ โดยเฉพาะประเทศไทย ยังมีข้อได้เปรียบในเชิงธุรกิจ อีกมากมาย แบบนี้ถือได้ว่า WIN-WIN ด้วยกันทุกฝ่าย