ไทย Eng
 


พูดคุยกับคุณวิชัย วิทยฐานกรณ์

เจ้าของธุรกิจน้ำมันตราองุ่น  และหนังสือสภาคลังสมองเพื่อชีวิต


          หลายๆ ท่านอาจจะทราบกันมาบ้างแล้วว่าผมทำน้ำมันตราองุ่น และตอนนี้ผมทำหนังสือสภาคลังสมองเพื่อชีวิต จุดประสงค์เกี่ยวกับธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ มันมาจากก่อนหน้านี้ที่ตั้งโรงงานที่สามพรานก็มีการทำกิจกรรมเพื่อสังคม โดยมีชาวบ้านมาเกี่ยว เน้นไปทางกลุ่มโรงเรียน เน้นช่วยโรงเรียนเยอะ เรียกว่าทำมา 35 ปีต่อเนื่อง มีสมาชิกถึง 35 โรงเรียน เริ่มจากโรงเรียนที่ยากจน แล้วเราก็ build up ให้เค้าพยายามช่วยเหลือตัวเอง ระยะหลังที่มีข่าวว่าควรยุบโรงเรียนเล็กๆ ที่มีนักเรียนน้อยๆ หรือประสิทธิภาพไม่ถึง อันนี้ผมว่าคิดผิด เพราะผมมีตัวอย่างชั้นหนึ่งมาพิสูจน์ คือเป็นโรงเรียนที่ไม่มีเงินมาสนับสนุน ชาวบ้านช่วยกันสร้าง เราบังเอิญเข้าไปเกี่ยวข้องจนเค้ารู้สึกว่าเมื่อจุดเริ่มต้นดี ชาวบ้านมาเสริม ครูก็มีกำลังใจ มีการต่อยอด มีทุนการศึกษา ก็ว่ากันไป จนกระทั่งเติบโต 20 ปีผ่านไป เค้าเดินมาบอกว่า สิ่งที่เราให้เค้ามา 20 ปีนี่ เค้ารอดแล้ว

          ผมทำน้ำมันพืชตราองุ่น ก็มีการให้โรงเรียนตามโควต้า โรงเรียนนี้เด็กเยอะก็ให้สองลัง โรงเรียนเด็กน้อยก็ให้ลังหนึ่ง ผ่านไปจนเมื่อเค้าตั้งหลักได้ เค้าก็จะมาบอกว่า อ.วิชัย ช่วยเอาน้ำมันคืนไปหน่อยนะ ช่วยเอาไปให้โรงเรียนที่แย่กว่าเค้า ถือว่าเราทำสำเร็จแล้วเพราะเค้าเองก็ทำสำเร็จแล้ว สิ่งเหล่านี้เรียกว่าเข้าถึงหลักธรรมาภิบาล เราให้โดยไม่หวังผลและต้องให้อย่างต่อเนื่อง เมื่อให้อย่างต่อเนื่องครูก็จะบริหารได้ ไม่เหมือนการทำบุญที่ทำครั้งเดียวแล้วเราก็ไม่เคยติดตามว่าเค้าดีขึ้นหรือแย่ลงยังไง แต่ของผมทำแล้วมีการติดตามเพราะทำในพื้นที่ที่ผมไปถึงในนครปฐม ทุกโรงเรียนต้องมารายงานเป็นระยะ สามเดือน หกเดือน เอาบัญชีมาให้ดู เราให้ตังค์ไปแล้วต้องใช้ให้เป็น เท่ากับว่าเราเสริมและผลักดันให้เค้าทำให้สิ่งที่เราอยากให้ ไม่ใช่ให้เฉยๆ ส่วนใหญ่สังคมคนมีฐานะ มักจะให้แล้วก็จบ แต่ผมตามมา 35 ปี จนมีตำรา เขียนหนังสือขึ้นมาชื่อคลังสมองเพื่อชีวิต อย่างในเล่มก็มีเรื่องครูพันธุ์ใหม่ คือในนครปฐมผมจะเน้นให้เด็กพูดได้สามภาษากันให้ได้เยอะที่สุด ก็พยายามหาครูต่างประเทศมาช่วยเค้า มาสอน เพราะผมรู้สึกว่าสมัยเด็กๆ ผมไปเรียนเมืองนอกที่เค้าเจริญกว่าเรา รู้สึกว่าเราตามเค้าไม่ทัน ภาษาเราไปไม่รอดเลย อันนี้คือสิ่งที่อยู่ในใจ หรืออย่างที่เห็นได้ชัดคือ ถ้าเรามีครอบครัวอยู่ต่างจังหวัด แล้ววันหนึ่งต้องย้ายมากรุงเทพฯ เอาลูกมาด้วย ถามว่าลูกจะเรียนทันเค้ามั้ย ไม่ทันหรอก ขาดลอยเลย อันนี้ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่สำหรับสังคมที่เด็กเสียเปรียบ เราเลยพยายามจะให้ ตั้งใจจะให้ตรงนี้ เพื่อที่เค้าจะได้ตั้งหลักได้แล้วมีการต่อยอดไปได้ ที่ต่างจังหวัดนี้ผมมีการอัดภาษาเข้าไปเลย ทั้งอังกฤษ ทั้งจีน อย่างน้องๆ ที่มาด้วยวันนี้ก็เป็นครูฝึกหัดจากจีน เอามาช่วย เมื่อเอามาช่วยแล้ว ครูไทยก็จะแข็งแรงขึ้น เพราะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผมก็มีวิธีการของผม มีการจับบั๊ดดี้ เพราะตอนใหม่ๆ เมื่อห้าหกปีก่อน ไปคุยกับผอ.โรงเรียน บอกว่าน่าจะเริ่มสอนภาษาจีนกันได้แล้วนะ โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว พอไปถามครู ส่วนใหญ่ก็จะบอก โอ๊ย อ.วิชัย สอนภาษาไทยอย่างเดียวก็เหนื่อยแล้วจะเอาภาษาจีนมาให้สอนอีกเหรอ แปลว่าขี้เกียจไง กลัว ผมเลยบอกผอ.ทั้ง 35 โรงเรียน ประกาศเลยว่าใครมีครูฝึกหัด ที่ไม่สามารถบรรจุได้ ปลายแถวที่สุดของคุณน่ะ เอามา แต่ขออายุน้อยๆ 30 40 ไม่รับ แล้วผมก็ตั้งกองทุน ช่วยครูพันธุ์ใหม่ ตอนแรกทำที่นครปฐม ตอนหลังมีสมาชิกมาเพิ่ม มีสมุทรสาคร ชานเมืองกรุงเทพฯ นิดหน่อย ผมส่งครูอาสาพวกนี้ไปเรียนเมืองจีนแล้วกลับมา ให้ครูไทยสอนภาษาจีน แต่กทม.นี่ไปจ้างครูจีนมา มาถึงครูจีนก็สอนมีปัญหา เพราะไม่เข้าใจวัฒนธรรมของไทย เลยมีปัญหาอีกแบบ ได้บ้าง เสียบ้าง แต่เราพยายามจะสร้างนวัตกรรมให้กับโรงเรียน ได้มีครูของเค้าเอง แม้ว่าครูไทยมาแล้วยังไม่เก่ง ไม่เป็นไร แต่ส่วนใหญ่ก็จบปริญญาตรี ไปที่นั่น เดี๋ยวนี้ภาษาจีนเค้ามีตัวอักษรภาษาอังกฤษ เรียก พินอิน เหมือน phonetic ที่เราเรียน มาประสมอักษรได้ ออกเสียงได้ ถ้าเรียนหลักอันนี้ได้ เค้ากลับมาใช้คอมพิวเตอร์ค้นคว้าได้เลย ถ้าค้นคว้าได้มันก็จะเป็นการเพิ่มทักษะ แล้วเค้าก็จะมีความสุข เพราะเค้าเรียนด้วยตัวเองได้ อันนี้แหละ คือกุญแจสำคัญถ้าจะสอนภาษาจีน ไม่ใช่แบบราชการไทย มีเงินเท่าไหร่ก็ไปจ้างมาสอน แพงก็แพง มาแล้วก็ไม่สำเร็จเพราะเด็กไทยไม่มีพื้นฐาน ไปไม่ได้ แต่ผมสอนตั้งแต่อนุบาล ป.1 ป.2 ไล่ไปเรื่อย

แล้วผมก็ลงทุนสั่งเครื่องมือสอนภาษา มีภาษาอังกฤษ จีน แล้วมีคู่มือเป็นภาษาไทย จัดเป็นชุด ของผมชุดละแสน แต่ผมขายแค่ห้าหมื่นถ้าคุณเป็นสมาชิก แล้วผมก็จะหาครูมาให้เพื่อเป็นพี่เลี้ยง จนเค้าช่วยตัวเองได้ในเรื่องวิธีการสอน เครื่องมือผมคือ จิ้มไปปุ๊บ มันก็ออกเสียง อย่างมีรูปรถไฟ เอานิ้วแตะ ก็มีเสียงวู๊ดๆ รถไฟโบราณ train แล้วก็ตามด้วยภาษาจีน เด็กก็จะจำสามภาษาในเวลาเดียวกัน เห็นภาพ ได้ยินเสียง หรืออีกภาพเป็นรถราง แตะที่ภาพมันร้อง ก๊องแก๊งๆ ก็จะอ๋อ นี่รถรางนะ ต่างจากรถไฟนะ ครูก็จะสอน จำแนกให้เสร็จ หรือมีรูปทรัมเป็ต รูปขลุ่ย เด็กก็จะได้เยอะที่สุด เพราะสมองเค้าว่าง เบสิกอันนี้ดีมาก จนมีบางโรงเรียน ผอ.มาเล่าให้ฟัง ว่าวันนั้นบังเอิญครูพันธุ์ใหม่ไม่ว่างอยู่สอน แล้วบังเอิญสพฐ.มาตรวจงานที่โรงเรียนวัดแห่งนี้ เมื่อผอ.พามาถึงห้องนี้ ก็อ้าว แล้วครูไปไหน เด็กคนหนึ่งอายุห้าหกขวบวิ่งออกมา ผมเป็นครูครับ เชิญครับๆ แล้วแกก็เปิดแอมพลิไฟน์ เปิดเครื่องฉาย เปิดทุกอย่าง เพราะแกเรียนทุกอย่าง เรียนแม้กระทั่งแอคชั่นของครู แล้วก็เล่นได้หมด สพฐ.ก็งง เรียกว่าเด็กเล็กๆ นี่เค้าลักจำ แต่นี่ล่ะ เรียกว่าจะจำไปจนชั่วชีวิตของเด็กเลยถ้าเค้าได้เรียนภาษานะ ไม่ใช่อย่างจบปริญญาตรีแล้วมาเริ่มเรียนเอกภาษาจีน ต่อให้เรียนแทบตายก็คงมาคุยกับผมไม่ได้ เพราะมาเจอทำอะไรที่ไม่สละสลวย ไม่ลงตัว เราจะไม่เข้าใจเพราะเรานั่งท่องเอา แต่เด็กเล็กๆ นี่มันปูไปได้เลย เพราะการสอนภาษานี่มันต้องเริ่มตั้งแต่เด็กเล็กๆ อย่างถ้าคุณเคยไปเมืองนอก ไปอยู่นอกนานๆ ภาษามันก็จะ absorb ต้องให้มันซึมซับ ไม่ใช่บังคับนั่งท่อง นี่เป็นประสบการณ์ของผม ที่เรียกว่าได้ทำเกี่ยวกับการศึกษาเยอะ

          พอมาตั้งโรงงานที่นครชัยศรีก็มาปูพื้นให้โรงเรียนในละแวกใกล้เคียง อันนี้นับเป็นสิ่งแรกที่ทำไว้ อย่างอื่นก็อีกเยอะแยะ หรือเกี่ยวกับอาเซียน ครูทุกโรงเรียนมาบอกว่ารัฐบาลบังคับว่าให้ครูรีบสอนเกี่ยวกับสิบประเทศอาเซียนให้เด็กรู้ ครูก็ไม่รู้จะสอนอย่างไร ได้งบมาก็ซื้อธงชาติปักหน้าโรงเรียน ทำได้แค่นั้น สอนก็สอนได้ไม่เท่าไหร่ เด็กก็ไม่เข้าใจ ผมเลยหานวัตกรรม ว่าวิธีสอนมันต้องเป็นอย่างนี้ เลยเชิญครูทั้ง 35 โรงเรียน มาประชุมกัน บอกผมอยากจัดงานอันหนึ่งชื่อ อาเซียนวีค ผมออกตังค์เอง พวกครูเอาตังค์ไปซื้อชุดมา ตัดชุดมา ถ้าคุณเป็นเวียดนามไปตัดมา เป็นมาเลย์ไปตัดมา เอางบไป แล้ววันงานก็จะมีเต๊นท์ใหญ่ๆ ให้ 13 เต๊นท์ สิบประเทศบวกสาม 35 โรงเรียนผมก็จะแบ่งกลุ่มให้ ถ้าคุณเป็นมาเลย์ พวกอาจารย์ต้องไปเสิร์ชเจาะลึกว่า อาหารการกินเค้ามีอะไร ต้องผลิตให้ได้ด้วย ส่วนผสมก็ต้องไปเขียนมา สอง วัฒนธรรมเค้าเป็นยังไง การละเล่น ไปหามาเพราะคุณเป็นครู ให้คุณเสิร์ชประเทศเดียวคุณเสิร์ชไหว ถ้าให้เสิร์ชทุกประเทศ มันก็จะตีกันในสมอง เพราะมันเยอะเหลือเกิน แบ่งหน้าที่ให้เสร็จ 10 กลุ่ม แบ่งกันทำงานมีอาหาร มีวัฒนธรรม มีการแต่งกาย มีความรู้รอบตัวเกี่ยวกับประเทศนั้นๆ มีการเมืองเค้า มีคำพูดง่ายๆ ภาษานั้นๆ แล้วเอามาพรีเซนท์เป็นบอร์ด ใส่มาให้เต็มที่ พอถึงวันงาน เด็กนักเรียนทุกคนมาเที่ยว พอมาถึง ก็จะแจกพาสปอร์ตให้คนละเล่ม เป็นพาสปอร์ตชั่วคราว แล้วประกาศว่า ใครอยากทานขนมฟรี เพราะอันนี้ครูทำขนมให้เห็น เราบอกเลย ถ้าเด็กเดินมาซุ้มเวียดนาม ทักทายเป็นภาษาเวียดนามได้ครูก็จะให้จับฉลากคำถาม เป็นคำถามพื้นๆ อย่างเช่น เวียดนามมีเมืองหลวงชื่ออะไร เด็กตอบได้ก็แสตมป์วีซ่าเวียดนามให้ เอาคูปองไปทานขนม เด็กก็สนุก แล้วก่อนเด็กจะมาตรงนี้เด็กก็ต้องไปเรียนรู้ก่อนเกี่ยวกับประเทศนั้นๆ

อย่างกิจกรรมนี้ก็เอาไปลงหนังสือ เขียนหัวข้อ พาสปอร์ตเล่มแรกในชีวิตของผม แล้วลงเกี่ยวกับกิจกรรมที่ว่านี้ เรียกว่าเด็กทุกคนหาข้อมูลแบบเตรียมสอบนะ เพราะอยากได้วีซ่า แล้วเด็กก็สนุกกับการได้เห็นสิ่งที่แปลกตา อ่านแล้วจด เข้าซุ้มไหนก็พยายามจำ จัดไปเมื่อเดือนมีนาคม อันนี้ถือว่าเป็นงานใหญ่ ปีหนึ่งผมจะทำหนึ่งงานใหญ่ให้กับ 35 โรงเรียนหนึ่งครั้ง ดึงเข้ามาหาความคิด นวัตกรรมใหม่ๆ เด็กก็จะสนุก มีการหมุนกงล้อปัญหา ถามชื่อเมือง อะไรต่ออะไรที่เป็นลูกเล่นของครู ครูต้องเตรียมคำถาม นั่นคือครูต้องไปค้น เพราะถ้าไม่ค้นครูก็จะไม่มีข้อมูลขึ้นบอร์ดให้กรรมการเห็น อย่างน้อยผมให้ทุน ผมก็จะเดินตรวจว่าครูทำการบ้านหรือเปล่า อย่างพวกครูมีกันกลุ่มละสามสี่คน คนละโรงเรียน คนละถิ่น ปกติครูจะไม่ยอมกัน ชั้นก็เก่ง เธอก็เก่ง อาจจะไม่อยากพึ่งพาอาศัยกัน แต่งานนี้ทำให้ครูสามัคคีกันดีมาก เพราะรู้ว่ามีเป้าหมายเดียวกัน ถ้าชั้นทำบอร์ดมาเลย์ของชั้นได้ดี ข้อมูลแน่น ครูคนอื่นๆ ก็ต้องชม ถ้าของใครโหรงเหรงก็เขินตาย เพราะครูนี่รู้จักกันหมด ผมใช้จิตวิทยาทางอ้อมว่าทุกคนต้องสู้ แม้กระทั่งเด็กที่ได้พาสปอร์ตเองยังสู้เลย ดูจากรอยยิ้มของเด็กที่อวดกัน อั๊วได้ห้าวีซ่า อีกคนบอก อั๊วได้เจ็ด คนแรกก็ไม่ยอม ก็ต้องวิ่งไปหามาอีก ต้องขวนขวาย ถ้าคุณเป็นเด็กคนนี้ เรียกว่าคุณมี know how อยู่แล้ว การไป
ต่อยอดมันก็ง่าย แล้วถ้าคุณเป็นครู คุณค้นของคุณ ของคนอื่นคุณก็เอากล้องไปถ่าย เรียกว่าได้ข้อมูลเพียบเลย ไม่ต้องไปค้นเอง วันไหนจะสอนประเทศไหน ก็มีข้อมูลหมดแล้ว เอาแค่นี้ ถือว่างานนี้ยิ่งใหญ่มาก วิธีคิดคือ ทำให้ครูทุ่นแรง ไม่ต้องค้นคว้าทั้งสิบประเทศ แค่ค้นของตัวเองให้ดี แล้วเอามาแลกกัน ครูทุกคนก็ได้ข้อมูลพร้อม พอเปิดเทอมมาก็สอนสิบประเทศได้หมด ส่วนเด็กก็มีพื้นฐาน เค้าก็จะเก็บความรู้นี้ไว้ยาว เป็นพาสปอร์ตอันแรกของเค้า กลับบ้านก็เอาไปอวดพ่อแม่ ผมไปเที่ยวสิบประเทศมาแล้ว มีเรื่องคุยกันเยอะแยะไปหมด นี่คือนวัตกรรมในการสอน วิธีสอนต้องคิดใหม่ สอนแบบครูไทยไปไม่รอดแน่ๆ บอกได้เลยตามโลกไม่ทัน เพราะเราอ่อนภาษา การขวนขวายมันน้อยกว่าเค้า เราอ่านหนังสือน้อยกว่าต่างชาติจุดอ่อนเราอยู่ตรงนี้ จึงต้องให้เห็นให้สัมผัสเยอะๆ เป็นตัวชดเชย จัดกิจกรรมเถอะ สิบกว่าปีผมจัดแต่กิจกรรม ครูพวกนี้เค้าเหนื่อย แต่เค้าก็มีความสุข นักเรียนไม่ชอบท่องหนังสือ แต่อย่างนี้เอา จำจนตายเลย มันง่าย คนจัดก็เหนื่อยวันเดียว สอนหนังสือจะง่ายถ้าเล่นนวัตกรรมเป็น อันนี้เป็นตัวอย่างให้ฟัง

          สามสิบปีก่อนผมไปเมืองจีน ได้ฟังเติ้งเสี่ยวผิงพูด เพราะผมเป็นคนจีนโพ้นทะเล คราวนั้นท่านเชิญสิบประเทศไปฟัง ท่านบอกว่า สงครามหมดแล้วนะ จีนแผ่นดินใหญ่จะออกทะเลโดยผ่านประเทศไทย เพราะจีนมีแต่เซี่ยงไฮ้กับกวางเจาที่ออกทะเล ที่เหลือต้องอ้อมแหลมมลายูผ่านสิงคโปร์กว่าจะไปยุโรป สามสิบวัน ค้าขายช้า ท่านเลยคิดว่าทำถนนผ่านประเทศไทยมาเลย แล้วส่งลงเรือ ถ้าเมืองไทยทำท่าเรือได้ ส่งออกไปเลยจะเร็วกว่า ไม่ต้องไปจ่ายต๋งให้มาเลย์ สิงคโปร์ทางนั้น ท่านคิดไกลมากโดยตั้งโจทย์ไว้ว่าต้องสร้างถนนมาเชื่อมประเทศไทย ผ่านมาทางลาว แล้วผมเป็นคนชอบติดตาม คิดตลอดกับคำพูดนี้ ว่าถนนนี้มันจะมายังไง ดูจากแผนที่ประเทศจีน เชื่อมมาลาวมาไทย ภูเขาสูงทั้งนั้น ระยะทางเจ็ดแปดพันกิโล จะมากันยังไง สรุปคือเฝ้าติดตาม แล้วก็มองเห็นถนนเมื่อสิบปีก่อน เห็นด่าน ชายแดนเมืองจีนมีด่านเรียกว่าด่านบ่อหาน แล้วก็เริ่มทำถนนเข้าลาว ผมก็ไปสำรวจ สำรวจจากไทยขึ้นไปบ้าง สำรวจจากจีนลงมาบ้าง ปีนึงไปขึ้นล่องๆ กว่าจะรู้เรื่อง สามปี คิดว่ามาทางนี้แน่ แล้วด้วยความเป็นนักธุรกิจผมก็จะไปดักทาง เหมือนเป็นการจองทำเล อีกห้าปีสิบปีตรงนี้ดีแน่ ก็เข้าไปในลาว ไปอยู่ที่ห้วยทราย ไปทำธุรกิจเล็กๆ แต่ตอนนั้นก็ถือว่าเป็นธุรกิจใหญ่ ข้ามชาติเลย ทำแพขนานยนต์ข้ามแม่น้ำโขง เพราะตอนนั้นยังไม่มีสะพาน ชาวบ้านชาวเมืองสองประเทศไปมาหาสู่ต้องอาศัยเรือข้ามแม่น้ำโขง ผมก็ทำแพขนานยนต์รับรถบรรทุกสิบล้อ รถปิคอัพที่จะข้ามแม่น้ำไปมา เริ่มจากตรงนี้เมื่อแปดปีก่อน จนรัฐบาลเค้ามองว่าคนนี้มันรับปากแล้วทำจริง เพราะคนไทยสมัยก่อนชอบไปหลอกคนลาว หรือคนลาวหลอกไทย หรือหลอกกันไปมาก็ไม่รู้ จนโกรธกัน ไม่ถูกกัน แต่เจ้าแขวงให้งานนี้ผมมา เรียกว่าไปที่นั้นพูดเล่นได้ว่าตั้งบริษัทเดินเล่นไทยลาวสามปี หาอาชีพลงไม่ได้ ไม่ลงตัว จนเจ้าแขวงที่นั่นบอกเอาแพนี่ไปทำแล้วกัน ก็ได้ทำ ก็ดีใจกลับบ้านก็นึกชื่อบริษัท สรุปได้ชื่อว่าฟ้าไชโย นับว่าเฉิ่มที่สุด แต่ว่าฟ้าไชโยเพราะได้งานทำแล้ว เหมือนคนตกงาน หาอาชีพไม่ได้ ตังค์มีแต่ไม่รู้จะทำอะไร

 

          คิดจากภูมิศาสตร์ ไม่ได้ตามกระแสเลย เราจะไปตรงไหนก็แล้วแต่ หรือมองเมืองไทยวันนี้คนพูดกันเยอะว่าเราจะเป็น HUB ก็เพราะภูมิศาสตร์มีส่วนที่จะทำให้เราเป็นแบบนั้น นอกจาก Management ของเราไม่ดี และเราพลาด เราก็จะไม่ได้เป็น ผมทายว่าเราจะเป็นได้แค่ Bypass ของ HUB เพราะไม่ใช่แค่ทำเลดีแต่บริหารไม่เป็น อย่างการทำน้ำมันพืชองุ่นต้องย้อนไปตอนนั้นเรียนอยู่ฮ่องกง พ่อไปลงทุนกับเพื่อนแบบไม่ได้ตั้งใจ แล้วโดนเพื่อนโกง พ่อก็มีนิสัยสู้ตาย มีเงินเท่าไหร่ก็เอาไปลง เรียกว่าเลยต้องลงมือทำเอง แต่รุ่นท่านนี้ไม่มีความรู้ ผมอยู่ฮ่องกงก็ได้ภาษาอังกฤษ พอกลับมาจำเป็นต้องเรียนรู้ก็บินไปอเมริกา ไปหาความรู้ แล้วกลับมาช่วยกัน Rebuild สิ่งที่ขาด เพราะผมได้เปรียบเรื่องภาษา ถึงได้บอกว่าตอนนี้ประเทศไทยแพ้แล้ว เพราะภาษาเราเดินช้า อีกอย่างเมื่อเราได้วิชาเอาตัวรอด เราไปอยู่ที่ไหนก็ได้ทั้งนั้น ไม่เลือกอาชีพ เริ่มต้นใหม่ได้ทุกอย่าง ต้องต่อสู้อยู่วันยังค่ำ ต่อให้คุณชำนาญ คุณก็ต้องต่อสู้ มันไม่มีตำรา ไม่ใช่ว่าผมเก่ง แต่ผมกล้าให้โอกาสมากกว่า

          อย่างงานเกี่ยวกับโรงเรียนที่ทำไป รับรองเลยว่าหน่วยราชการที่มาตรวจคุณภาพ ต้องให้คะแนนของโรงเรียนพวกนี้ดีเยี่ยม เพราะทุกโรงเรียนมีผลงานโชว์หมด เราต้องให้ครูสนใจเรื่องวิธีสอน วัดผลแต่ครูมีความรู้อะไรอย่างเดียวไม่ได้ ต้องวัดผลด้วยว่าครูสร้างผลงานอะไร สร้างอย่างไรให้ครูเหนื่อยน้อย สร้างอย่างไรให้เด็กจำได้ตลอดชีวิต นี่คือวิธีการคิดของผม ซึ่งอาจจะต่างจากกระทรวงศึกษาธิการ อย่างซีดี ตัวอย่างงานอาเซียนนี่ผมทำแจก 77 จังหวัดเลย เพื่อให้เค้าไปดู ว่าการเรียนมันต้องสนุก ก็ส่งคู่มือให้ไป อยากให้เค้าเอาไปต่อยอด หนึ่งอำเภอถ้าท่านทำไหว ก็ทำกันเถอะ จัดกิจกรรมท้องถิ่น ยิ่งถ้าทำเลดีๆ มีแหล่งท่องเที่ยว ก็ทำเลย เดี๋ยวจะได้ตังค์กันด้วย เพราะเป็นการดึงคนมาเที่ยวไม่ใช่แค่นักเรียน มีกิจกรรมค้าขายเต็มไปหมด ได้ทีเดียวหลายเรื่องเลย ผมก็พยายามนำเสนอ แต่มันก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้บริหาร ผู้นำ

 


         ไม่นะ ผมทำเดี๋ยวเจ๊ง เดี๋ยวดี วิชาเยอะ แต่ผมไม่เคยทำซ้ำอาชีพเก่าเลย มันเลยพิสูจน์ไม่ได้ว่าเราดีขึ้นเท่าไหร่ พอเจ๊งก็เปลี่ยนอาชีพ ไม่ใช่ว่าเบื่อ เพราะถ้าเบื่อจะแปลว่าขี้เกียจ แต่ผมถือว่าขยันมาก กล้าโม้เลย เพราะทำทุกอย่าง แต่ละอันที่เจ๊ง บางอันถึงกับต้องเอาเช็คไปแลก หักร้อยละยี่สิบ ต้องไปกู้เค้า แต่เจ๊งนี่ไปเจ๊งที่เขมร แพ้ปืน เมื่อสามสิบปีก่อนที่ไปบุกเขมรมา ยังไม่มีรัฐบาลฮุนเซนเลย เข้าไปลงทุนลงแรง เรียกว่าไปสร้างอุตสาหกรรมที่นั้น พอมันเจ๊ง เห็นท่าไม่ดี ของมันยกเอาออกมาไม่ได้ เอาชีวิตรอดออกมาดีกว่า กลับมาดีกว่า ก็หมดไป แต่มันเป็นสิ่งหนึ่งที่นับว่าเราอยากรู้อยากเห็นอยากทำ ก็มาเริ่มใหม่

          คำว่าเหนื่อยหรือท้อ มีครั้งเดียวตอนคุณพ่อให้มาเริ่มบุกเบิกน้ำมันพืช มันแสนสาหัสจริงๆ ยุคนั้นไม่มีตัวช่วยเลย สมัยนั้นเรามีโรงงานสกัดน้ำมันได้ แต่ต้องไปขายให้ยี่ห้ออื่นหมด เราไม่มียี่ห้อตัวเอง จนตอนหลังเกิดน้ำมันพืชองุ่น ซึ่งชื่อองุ่นนี่ไม่เข้าท่าเลย เรียกไม่ง่าย คำไม่เก๋ เหมือนยี่ห้ออื่นเค้า แต่เราตั้งองุ่นเพราะองุ่นภาษาจีนแปลว่าอุ้มชู มีคนอุ้มชู ก็รุ่นพ่อถือเคล็ดเลยตั้งชื่อนี้ ผมเองก็สู้กับพ่อนะ ไปจดทะเบียนเลือกชื่อนั้นชื่อนี้ ชื่อแชมป์อะไรต่ออะไรพอถูไถได้ แต่ไปไม่สำเร็จเพราะโดนกลั่นแกล้งตลอด ไปยื่นจดทะเบียนด้วยความที่เราเป็นเด็กใหม่ไม่มีประสบการณ์ แต่คนอื่นวิชามารเพียบ เค้าบอกอีกสามเดือนมาฟังผล พอไปอีกทีเค้าบอกเอกสารหายให้ไปยื่นเรื่องใหม่ แกล้งเราดื้อๆ เป็นวิชามารล้วนๆ เราไปวางสินค้าสองสามอาทิตย์ เค้าใช้วันเดียวเก็บสินค้าเราหมดจากท้องตลาด เพราะทุนเค้าหนา ปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่เราก็อยู่มาได้เพราะเรื่องสินค้าเราจริงใจ แต่เราก็เริ่มมีวิชามารบ้าง นี่คือยุคนั้นนะ อย่างถ้าคุณขายปลากระป๋อง เค้าก็จะให้เซลส์แกล้งมาเช็ดสินค้า แต่เอาผ้าชุบน้ำเกลือมาเช็ดของเราให้มันขึ้นสนิม เราก็ขายไม่ได้ คนคิดแบบนี้มี เราเป็นเด็กเกิดใหม่ก็ไม่รู้เรื่อง สรุปคือการโต้ตอบกับคนพวกนี้เราต้องมีความพร้อม ถ้าเค้ามีเรือบินรถถัง แต่คุณพ่อให้มาแค่ไม้อันเดียว เราก็สู้ไม่ได้ ก็ต้องเล่นแบบกองโจร แอพพลายวิธีการแบบทหาร อย่างที่ผมเคยเป็นทหารเกณฑ์เพราะพ่อบอกให้เอาตังค์ไปให้สัสดี แต่เราคุยไม่รู้เรื่องเอาตังค์กลับ พอจับได้ใบแดง เลยไปเป็นทหาร แต่การเป็นทหารก็ได้เยอะ ได้สิ่งที่คนอื่นไม่มี บางคนมองว่ามีกินมีใช้แต่ทำไมโง่ไปอยู่ชายแดน เราก็บอกว่าเรายอมโง่ วันนี้เราถึงเกิด คนอื่นต้องมาตามหลังเราทั้งนั้น ไปก่อนก็อาจเจ็บก่อน แต่ก็รู้ก่อน ทีนี้เราอึดพอ ถ้าไม่อึดก็อยู่ไม่ได้ ในสภาพแวดล้อมนั้นๆ ต้องมีทั้งวิชาเอาตัวรอดและความอึด ถึงได้ผ่านมาได้ จนมีเรื่องเล่ามากมาย เล่าสิบวันก็ไม่จบ เพราะโดนทุบโดนเตะ โดนอัดตลอด แต่เราได้วิชามาโดยธรรมชาติ ไม่มีในตำรา เพราะสถานการณ์มันเปลี่ยนตลอดเวลา อย่างคนกรุงเทพฯ นี่น่าจะต้องเริ่มรู้สึกแล้ว ว่าเอ๊ะ เดินไปไหนมาไหนทำไมคนฟิลิปปินส์เยอะขึ้น คนจีนเยอะขึ้น เวียดนามมาอีก ยิ่งบางอาชีพจะเริ่มงง แล้วเมื่อเปิด AEC ทุกคนจะรุมเข้ามาแย่งอาชีพกัน มันต้องมาที่ไทย เพราะประเทศล่างๆ ก็อยากไปค้ากับจีนด้านบน เพราะจีนมีไม่กี่เมืองที่ติดทะเลค้าขายสะดวก นอกนั้นเป็นแผ่นดินใหญ่ กว้างใหญ่ไพศาล หนึ่งมณฑลเท่ากับหนึ่งประเทศไทย สิบกว่ามณฑลออกทะเลไม่ได้ เติ้งเสี่ยวผิงถึงให้อยากมาที่ไทย แล้วจะต่อไปไหนค่อยคิด ท่านมองออก วิสัยทัศน์ท่านดีมาก สำหรับเมืองไทย ถ้าทำดีก็เป็นเมืองหลัก ทำไม่ดีก็เป็นเมืองผ่านเท่านั้นเอง

 

         ก็ห่วงคนที่มีคุณภาพของรัฐบาล ถ้าเค้าขีดเส้น เราไม่เดินก็ผิดกฎหมาย แต่ถ้าเดินไป คนที่เข้าใจก็ไม่เดิน อย่างผม ถ้าเห็นท่าไม่ดีก็อย่าไปเดิน อะไรที่เสี่ยงก็อย่าไปทำ การมองอาชีพมันไม่ได้มีหลักว่าขึ้นอยู่กับอะไร สถานการณ์ไหน แต่เราต้องอ่านสถานการณ์เป็น อย่างตอนนี้ สะพานข้ามไปลาวไปจีนจะเปิดแล้ว มีแห มีอวนไปวาง ปลาก็เข้ามาเองจะมากจะน้อยคุณก็ต้องได้ แต่วันนี้ถ้าคุณเริ่มทอแหจะมาจับปลาตรงนี้ก็ไม่ทันแล้ว เพราะทุกคนเห็นเหมือนกัน

         มันเป็นเรื่องธรรมดา เพราะมันรู้ว่าเรากำลังจนแต้มไง เราเลยต้องดิ้นรนหาความรู้ เพราะถ้าไม่หาความรู้เราก็จะถึงตาจนแน่ๆ

         มาด้วยความบังเอิญ เพราะเพื่อนฝูงมาเรียนก็เลยตามๆ กันมา เดิมทีเรียน MMP ที่จุฬาฯ แล้วเพื่อนที่จุฬาฯ มาเรียนกับดร.หลุย เลยตามๆ กันมา

         จุฬาฯ เค้าจะสอนวิชาการเพียวๆ แต่เดอะบอสส์นี่สอนจิตวิทยา คำว่าจิตวิทยานี่ตอนนั้นเราไม่ค่อยเข้าใจว่าคืออะไร แต่มันคือบางสิ่งบางอย่างถ้าติดตัวไปได้แล้วเราจะเอาไปพลิกแพลงใช้ได้ตลอด นี่คือข้อดีของจิตวิทยา มันจับต้องไม่ได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์  ว่าสถานการณ์แบบนี้ๆ คุณมีอะไรในตัวสามารถดึงมันออกมาปรับได้ นี่คือข้อดีของการเรียนจิตวิทยา แล้วถ้ายิ่งใช้มันจะยิ่งคล่อง แบบเดียวกับที่ตอนนี้ผมกำลังใช้กับคุณอยู่ พูดให้คุณเงี่ยหูฟังผมได้จนลืมตั้งคำถาม มันเป็นอะไรอย่างหนึ่งที่ไม่มีการตีเส้นชัดๆ ให้ แต่จะหยิบมาใช้เมื่อไหร่ก็ได้   รวมถึงในด้านธุรกิจ พื้นฐานของธุรกิจคือความพอใจ ทำอย่างไรจะให้เค้าพอใจเรา ตกลงกันง่าย ไม่ให้เค้าโกรธจำทำยังไง ได้ตรงนี้มาก็เอามาปรับ เพราะวิชาอื่นๆ มันมีอยู่แล้ว อย่างการทำน้ำมันพืชนี่มันมีในสมองอยู่แล้วเพราะมันทำมาตั้งแต่เด็ก ทำเส้นด้ายทอผ้าเย็บยังไงมันก็รู้ แต่จิตวิทยานี่มันไม่มีอะไรชัดๆ มันต้อง Absorb แบบเดียวกับภาษา บอกว่าเก่งภาษาแต่กว่าจะพูดทีต้องนึกเป็นไทยก่อนแล้วแปลออกมา แบบนี้ถือว่าใช้ไม่ได้ เพราะมันจะต้องไหลออกมาเอง ถึงจะเรียกว่าพูดภาษานั้นๆ ใช้ได้ ต้องออกมาออโตเมติก

 

         มีคนโทรมาแลกเปลี่ยนความเห็นกันเป็นเรื่องธรรมดา แล้วมีการจับกลุ่มกันบ้าง การต่อยอดธุรกิจยังไม่ค่อยมีเพราะผมไปอยู่ต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ เดือนหนึ่งอยู่กรุงเทพฯ อาทิตย์เดียว ที่เหลือไม่อยู่ลาวก็จีน

 

         มันขึ้นกับว่าถ้าเค้าต้องการเรา หรืออยากมาเส้นทางนี้ผมก็พร้อม อย่างเช่นถ้าคุณบอกกรุงเทพฯ ตอนนี้การแข่งขันเยอะ กำไรไม่เหลือ คุณมีสินค้าพร้อม ต้องหาตลาดใหม่ มีของกินที่คนจีนกำลังต้องการ มันก็เป็นเรื่องที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้คุยกันได้ ผมขนไปให้มั้ย หรือให้ขนด้วยทำการตลาดด้วยก็ได้ อะไรแบบนี้ หรือคนมาถามข้อมูล ว่าต้องเสียภาษีอย่างไร เท่าไหร่ ก็เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้กัน ประมาณนี้ เป็นการแนะนำหาโอกาสให้กันมากกว่า    ผมทำถึงขั้นที่เรียกว่า สมัยก่อนอยู่เมืองไทยไม่เข้าวัด แต่ตอนนี้เป็นมัคทายกที่วัดในจีน เคยสร้างพระพุทธรูป เมื่อห้าปีก่อนผมไปเจอวัดของพวกไทลื้อ เค้ายากจน ขาดความพร้อมเพราะรัฐบาลเค้าไม่ยอมให้เกิด ถนนก็เป็นลูกรัง ผมเลยบอกพระท่านว่าผมจะไปทำมาหากินในสิบสองปันนา เลยอยากมาทอดผ้าป่า ตอนนั้นท่านก็ไม่ค่อยเชื่อเพราะคนไทยไปเบี้ยวท่านไว้เยอะ เนื่องจากมันไปมาลำบาก แต่วันที่เราไป ผมคอยโทรหาท่านตลอด รายงานตลอดว่าเดินทางถึงไหนๆ ตลอดสามวันจนไปถึง ท่านเลยประทับใจ ตั้งแต่นั้นท่านก็ไหว้วานตลอดในเรื่องที่เมืองจีนไม่มี เช่นเรื่องกระเบื้องมุงหลังคา ท่านออกตังค์มา เราก็จัดหาให้ ทำให้ถูกใจท่าน จนหลังสุดได้สร้างพระแล้วก็อัญเชิญไปด้วยรถเทรลเลอร์ของเราเอง ขนผ่านลาว ข้ามแม่น้ำ ขนทางรถต่อไปเรื่อยๆ จนถึงซุปเปอร์ไฮเวย์ในจีน ถนนในจีนดีมาก ถ้าเป็นเหวก็ตั้งเสาขึ้นมารับถนน ถ้าเป็นภูเขาก็เจาะอุโมงค์เข้าไป ถนนสวยทีเดียวเพราะเงินเค้าหนา พอเอาพระไปพวกชาวบ้านก็มาอัญเชิญกัน หลายปีก่อนก็เคยทำฐานชุกชีไปถวาย ก็มีคนมาขอท่านเยอะ ท่านบอกให้ไม่ได้เพราะเป็นของท่านวิชัย เราก็หน้าบานเลย มีกิจกรรมอะไรๆ เราก็ช่วย จนวันฉลองพระอุโบสถใหญ่ มีพระสงฆ์มาจากประเทศต่างๆ ศรีลังกา ธิเบตมาหมด 600 กว่ารูป คนเป็นหมื่นๆ พวกไทลื้อมาหมด แต่งตัวมาหมู่บ้านละหนึ่งสีมาเข้าแถวต้อนรับเรา เรียกว่างานแบบนี้มีตังค์ก็ไม่มีปัญญาทำได้ เป็นโอกาสที่ดี เราเป็นตัวแทนประเทศไทย

 

         ผมทำแค่เส้นนี้เส้นเดียวพอแล้ว เพราะไม่มีเวลา เวียดนามก็เคยไป สามสิบปีก่อนก็ไปตระเวนดู เพราะเมืองไทยมันยากขึ้นเรื่อยๆ เลยไปดูประเทศข้างเคียงว่าจะทำอะไรการไปขอสัมปทานแต่ละที่ก็ยาก ยิ่งประเทศคอมมิวนิสต์ยิ่งยากเพราะเค้าไม่ไว้ใจเรา บางทีก็หลายปีกว่าจะทำได้ อย่างกว่าจะจดทะเบียนบริษัทต้องหนึ่งปีถึงจะจดทะเบียนบริษัทได้ แล้วกว่าจะได้สัมปทานอีก สมัยก่อนเปรียบเทียบว่าคุณอยู่สระบุรีจะไปอยุธยายังไม่ได้ ถ้าเจ้าเมืองเค้าไม่เซ็นอนุมัติให้เข้าเมืองได้ สมัยรุ่นผม ถ้าไปประเทศคอมมิวนิสต์นี่กลับมาสันติบาลเรียกเลย ไปสัมภาษณ์ว่าไปทำอะไรยังไง ซักไซ้ไล่เรียง เค้ากลัวเรากลายเป็นคอมมิวนิสต์  เติ้งเสี่ยวผิงเองเค้าก็รู้ว่าเค้าออกมาค้าขายกับโลกเสรียาก เค้าเลยคิดกุศโลบาย เอาวัฒนธรรมนำหน้าการค้า ท่านเลยจัดกิจกรรมพู่กันจีน แล้วนำมาแสดงวัฒนธรรมที่ประเทศไทยเป็นประเทศแรก แล้วบังเอิญผมได้เป็นคนพาคณะมา ในคณะก็มีลูกสาวเติ้งเสี่ยวผิงอยู่ด้วย ผมเลยชงเรื่องให้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพฯ เลยเป็นที่มาที่ทำให้เวลาเข้าออกจีนแล้วเค้าให้เกียรติผม เพราะทำเรื่องเริ่มต้นให้เค้ามาคบค้ากับไทย หลังจากหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ที่ตอนนั้นท่านเดินทางไปจีนเพราะกลัวการเป็นคอมมิวนิสต์ เนื่องจากประเทศอื่นรอบด้านเป็นกันหมด เหลือไทยประเทศเดียวตามทฤษฎีโดมิโน่ ท่านคึกฤทธิ์เลยแก้เกมด้วยการเดินทางไปพบโจวเอิ้นไหล   เรื่องพวกนี้ก็มีเขียนในหนังสือของผมเพราะมันมีเรื่องยาวเยอะเลยเขียนที่มาที่ไปในเส้นทาง R3A นี้เป็นวิทยาทาน ถามว่าวันนี้ให้ไปที่อื่นมั้ย ถึงไม่ไป เพราะจะเดินเล่นอยู่แถวนี้พอแล้ว

 

 


         ไม่มีเลย ถ้ามีก็โกหกทั้งนั้น มันต้องสัมผัสด้วยตัวเอง อย่างวันนี้ทำไม MPI เชิญผมเป็นที่ปรึกษาที่นี่ ก็เพราะเค้ามองออกว่าผมติดดินจริง ทำงานทุกอย่างด้วยตัวเอง ส่วนลึกเราก็สามารถปรับได้ ส่วนพวกข่าวสารตามหนังสือพิมพ์มันก็มาจากการไปเดินเล่นหาข่าวตามชายแดนแล้วมาเขียนเป็นตุเป็นตะ แต่ตื้นลึกหนาบางเราไปสัมผัสได้ใกล้ชิดกว่า เพราะเราอยู่ในพื้นที่ ไปตั้งแต่สิบปีก่อน ไม่มีถนนก็ไปมาแล้ว

          กิจการทางนี้ก็อยู่ได้ปกติ เราไปที่นั่นก็เหมือนไปเที่ยว ธุรกิจทางนี้มันรันของมันอยู่แล้ว เราปลีกเวลาไปดูทางนั้นเพราะจำคำของเติ้งเสี่ยวผิงได้ จะทำถนนหาทางออกทะเล เราก็ดั้นด้นจนเจอว่าต้องมาออกทางนี้แน่ๆ ก็ปักหลักเลย ทำธุรกิจ โรงแรมเล็กๆ บ้าง ห้องอาหารบ้าง มีลูกน้องอยู่ก่อนแล้วค่อยๆ เพิ่มเติมเครือข่ายวิธีการทำการค้า ยิ่งอยู่นานยิ่งรู้ลึก อาจารย์พิเชษฐ์ก็อยากให้ลูกทีมเดอะบอสส์ได้เห็นภาพกว้างร่วมกัน เพราะเดอะบอสส์คือเผื่อแผ่สั่งสมวิชาการ และเผื่อกัน นี่คือคว้าเพื่อนคนไหนได้ก็เอามาช่วยกัน แล้วมันจะ get together ผมก็มาในฐานะ adviser เรื่องการลงทุนในลาว ในจีน

         เส้นทาง R3A ยังมีอะไรให้ทำอีกเยอะมาก ขึ้นกับว่าคุณมีความสามารถเข้าไปแข่งหรือเข้าไปประยุกต์ในกลุ่มเค้าได้มั้ย เพราะเค้ามีเจ้าถิ่นทำมาค้าขายอยู่   ผมอธิบายได้แค่ว่าประเทศจีนใหญ่มาก ลงมามีลาว ลงมาไทย จากคุนหมิงลงมาไทยนิดเดียวถึงเชียงราย จากสิบสองปันนาขับรถลงมาร้อยเจ็ดสิบกิโลฯ เข้าชายแดนลาว ขับในลาวอีกสองร้อยห้าสิบกิโลฯ ก็ถึงห้วยทราย ข้ามแม่น้ำมาก็ประเทศไทยคือเชียงของแล้ว ผมขับมาหลายปีแล้ว ออกจากสิบสองปันนาแปดนาฬิกา สี่โมงเย็นเข้าไทยแล้ว ถ้าขับเร็วๆ หน่อยก็สามโมงครึ่งยังทันมาเบิกตังค์จ่ายค่าแรงลูกน้องที่ธนาคารเลย ถนนมันเรียบร้อย ผิวจราจรดี เป็นไฮเวย์เราก็เหยียบได้ เป็นถนนที่ไทยกับจีนออกตังค์กันคนละครึ่ง แต่ลาวให้ผ่าน ผมทำงานอยู่แค่นี้   อีกไม่กี่วันผมก็ต้องไปเป็นวิทยากรที่เชียงราย ท่านผู้ว่าฯ เชิญผู้ว่าฯ 6-7 จังหวัดล่างๆ แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย พวกนี้ ให้ไปรวมกันเพื่อบอกว่าสะพานสร้างเสร็จแล้วอีกสองเดือนจะเปิด  เปิดแล้วธุรกิจจะไหลมาเส้นทางนี้ เลยให้มาเรียนรู้ด้วยกัน ว่าเราจะเชื่อมกันยังไง สร้างประโยชน์ร่วมกันยังไง แล้วให้ผมเป็นวิทยากรเพราะอยู่ที่นี่มาสิบปีแล้ว ผมเห็นทะลุทั้งสองข้าง ผมได้เปรียบตรงที่ยกจุดไหนมาก็พูดได้หมดเล่าได้หมด เพราะมันเกิดความเคยชินเนื่องจากสัมผัสกับมันมาตลอด สะพานนี่ก็รอให้สมเด็จพระเทพฯ เสด็จเปิด  ตอนนี้สร้างเสร็จเรียบร้อยแต่ยังเปิดไม่ได้เพราะยังเคลียร์เรื่องเงินกันไม่เสร็จ

 

         ไม่ต้องวางเพราะมันรันของมันได้อยู่   ถึงเวลาก็แค่มาประชุม มีหน้าที่กำหนดนโยบายทิศทาง ไม่ต้องลงไปทำเพราะเราจ้างมืออาชีพมาทำพวกนี้ได้ เรียกว่ามันถึงจุดหนึ่งแล้ว เพียงแต่ถ้ามีปัญหาเค้าก็จะโทรมาถาม เราก็จะบอกว่าเจาะรูไว้ให้แล้ว คุณเสียบแจ็คเข้าไปแล้วก็เชื่อมต่อได้เลย เบสิกเราทำมาตั้งแต่ไปซื้อเครื่องจักรเทคโนโลยีมาเลย เราพอมีพื้น แต่วันนี้เรามีอายุมากขึ้น ความแม่นก็น้อยลง เลยต้องเอาคนหนุ่มเข้าไปทำ เท่านั้นเอง เป็นรุ่นลูกรุ่นหลานแล้ว

 



         ผมว่าผมไม่มีวัยรุ่น เด็กแล้วโดดเป็นผู้ใหญ่เลย เพราะพ่อผมใช้ผมแบบหัวซุกหัวซุน รุ่นพ่อมาเสื่อผืนหมอนใบ เอาความขยันเป็นตัวแลก เอาความประหยัดเป็นตัวตั้ง เงินได้เท่าไหร่ก็ต่อยอด ต่อยอด ต่อได้เท่าไหร่ก็เอาลูกทำ ไม่เหมือนรุ่นพวกเราแล้ว ดูลูกเหมือนไข่ในหิน ทำอะไรก็ไม่เป็น รุ่นผมป.3ป.4 เลิกเรียนต้องขี่จักรยานไปส่งข้าวสาร ที่บ้านทำข้าวสารถุงขายเมื่อ 40 ปีก่อน ผมก็ส่งของส่งสินค้า เรียกว่าพ่อฝึกให้ทำอาชีพตั้งแต่เล็กๆ เลย อยู่กับการค้ามาโดยตลอด ไม่เคยวางแผนเลย มันออโตเมติกทุกอย่าง ไม่ต้องคิดว่าคุ้มมั้ยคุ้ม มันเป็นฟีลลิ่งเลยว่า ไอ้ทางนี้ใช่แล้ว อย่างผมบอกมาทางเส้นอาร์3เอที่จีนกับไทยลงขันสร้างถนน ตัดภูเขาเพื่อให้จีนมาค้าขายกับไทย ประตูอยู่ไหน ก็ต้องมาหาประตูให้เจอไปอยู่แถวนั้น เดี๋ยวปลามันก็มาเอง พอปลามา ดักอย่างไรมันก็ต้องได้ คิดพื้นๆ แค่นี้ ทีนี่เมื่อเราจองหัวหาดถูก เราก็ต่อยอดได้ง่าย เหมือนถ้าคุณไปเซ้งบ้านเซ้งตึก ทำเลดีกับไม่ดีนี่มันผิดกันเยอะ แต่เราไปก่อน เราเลือกได้ อย่างอ.พิเชษฐ์ไปเห็นก็งง เพราะผมดักหน้าประตูทุกจุด สี่มุมเมืองผมมีสำนักงานที่วางไว้เสร็จ มีลูกน้องไปประจำทุกจุด งานช้างานเร็วค่อยว่ากัน งานไหนมีความเสี่ยงเราก็ทำช้าหน่อย เรียกว่าไปยึดพื้นที่ไว้ก่อน แล้วจะทำอะไรค่อยว่ากัน

          ถ้าย้อนไปสิบกว่าปีก่อน ได้ยินคำว่าอาเซียนก็ยังเฉยๆ ไม่ตื่นเต้น แต่พอสิบปีที่ผ่านมาประเทศไทยจะอยู่ไม่ได้แล้ว เพราะผมเป็นนักอุตสาหกรรม พ่อสอนให้เป็นนักอุตสาหกรรม คือการที่เราจะผลิตสินค้าหนึ่งอย่างต้องเริ่มจาก ซื้อที่ดิน สมมุติว่าห้าสิบล้าน สร้างอาคารสองหลังอีกห้าสิบล้าน ซื้อเครื่องจักรอีกห้าสิบล้าน สั่งวัตถุดิบมาอีกห้าสิบล้าน ผลิตเสร็จไปให้เซ็นทรัลขาย ต๊ะไว้ อีกสามเดือนค่อยเก็บเงิน แล้วคุณจะเหลืออะไร เรียกว่าหมดอนาคตแล้ว เลยเริ่มคิดตั้งแต่สิบกว่าปีก่อนว่าทำอุตสาหกรรมนี่เริ่มหมดอนาคตแล้ว แล้วเริ่มได้ยินว่าจีนมาแรง ต้นทุนถูกเค้าไม่คิดค่าแรง แล้วเราจะไปสู้เค้าได้ยังไงในอีกสามปีห้าปี ก็เริ่มถอยตัวเองออกมา เริ่มขายธุรกิจส่วนตัวทิ้งอย่างเช่นธุรกิจที่เราเป็นเทรดเดอร์ให้กับเครื่องจักรทางยุโรป เครื่องจักรของสเปนทั้งประเทศเราเคยเป็นตัวแทนจำหน่าย พอเจอต้มยำกุ้ง เราล้มไม่เป็นท่าเลย 25 บาทกลายเป็น 40 กลายเป็น 50 เลิกทันทีเลย ธุรกิจพลาสติกก็เคยทำ คือจะชอบพวกเทคโนโลยีใหม่ๆ มาก สมัยก่อนเป็นวัยรุ่นไปดูงานตลอด ดูเยอะมากจนฝันที่จะสร้างเครื่องจักรเองเลย คิดว่าเราน่าจะสร้างได้ เรียกว่าการเดินทางมากๆ นี่มันเพิ่มการเรียนรู้ พอเรียนรู้ก็อยากลอง แต่สิบปีที่ผ่านไปนี่เรียกว่ายกเลิกความคิดด้านอุตสาหกรรมเลย เปลี่ยนมาเป็นโลจิสติกส์ สิบปีก่อนเราก็คิดว่าจะเอา โลจิสติกส์เป็นปลายทางของบั้นปลายชีวิต ถึงต้องออกไปหาทำเล เอาไงดี รับจ้างจีนขนให้ไทยได้มั้ย รับจ้างไทยขนไปให้จีนได้มั้ย เจ็ดแปดปีก่อนก็ได้เริ่มต้นจากการขนรถบรรทุกข้ามแม่น้ำ แล้ววันนี้ก็ทำรถบรรทุกรับจ้างขนจากประเทศไทยไปจีน แล้วก็จ่ายลูกทีมตามจุด เรามีสเตชั่นของเราเป็นระยะทาง ประเทศละหนึ่งแขนขา มีตัวช่วย ก็ผันตัวเองไปทำธุรกิจบริการ ทำภัตตาคาร โรงแรม ท่องเที่ยว ก็มาถึงโลจิสติกส์ที่เป็นชิ้นเป็นอัน เรียกว่าโดดมาเลย จากการเป็นนักอุตสาหกรรมมาสู่การบริการ

         มีเยอะ แต่ก็คอยเบรกตัวเองว่าพอแล้ว พอแล้ว มันอยู่เฉยไม่ได้   อย่างปกติเป็นคนไม่อ่านหนังสือ แต่ผมก็ออกหนังสือนะ   ตลกมั้ยล่ะ คนที่ไม่เอาอ่าวเลยกับการเรียนหนังสือ เรียงความก็เขียนไม่เป็น เขียนไม่ปะติดปะต่อ แต่ตอนนี้ออกหนังสือ แล้วจะเริ่มทำเป็นสามภาษา ไทย จีน อังกฤษ เพิ่มความหนาเข้าไป จ้างฝรั่งมาเขียนเลย เพราะถ้าพูดถึง AEC แล้ว คนไทยก็จะนึกถึงภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง แต่จริงๆ ก็หนีไม่พ้นจีน อังกฤษ ภาษาสเปนนิดหน่อยเพราะประเทศแถวนี้เคยเป็นเมืองขึ้น แต่ก็เรียกว่าหมดยุคไปแล้ว แต่ยังไงก็เป็นภาษาอังกฤษ เพราะสังคมเป็นแบบนี้   ซื้อขายกันเอกสารก็ต้องเป็นภาษาอังกฤษหมด เพราะมันอินเตอร์ แต่ถ้าเรารู้ภาษาจีนด้วยก็มีโอกาสมากขึ้น   เพราะสิบมณฑลเค้าก็เท่ากับสิบประเทศ คุณค้ากับเค้ามณฑลเดียวก็เท่ากับค้าได้ประเทศหนึ่ง เมื่อเข้าประเทศเค้าได้แล้ว เสียภาษีแล้ว คุณก็ไปต่อสิ เดี๋ยวมันก็มีช่องทางเอง ให้ไปแข่งขันต่อสู้ได้

 


ไม่เลย คิดจะทำไปเรื่อยๆ หยุดไม่ได้ ถ้าหยุดก็จะน็อค ไม่ทำอะไรไม่ได้ สมองมันไม่หยุดคิด ทุกวันนี้ขับรถไปนี่สมองคิดสามประเทศ บางทีขับเลยไปเลย มันไปเรื่อย เพราะมันไม่มีตัวเบรกความคิด แต่ล่าสุดจะทำนิตยสารออกจำหน่าย ชื่อ “กว่าจะ...ฟ้าไชโย” เล่มนี้มาแนวเศรษฐศาสตร์แล้ว เนื้อหาอย่างเช่นหมากรุกจีนกับหมากรุกไทยอยู่ในตลาดเดียวกันจะสู้กันอย่างไร เพราะเค้าเป็นคอมมิวนิสต์ เราคิดแบบของเรา แล้วเราจะต่อกรกับเค้ายังไง จะเขียนเรื่องพวกนี้ จะออกเป็นพ็อกเก็ตบุ๊ค เรียกว่าเป็นวิทยายุทธเลย วิทยายุทธแบบติดดินของผม ไม่เขียนตามตำรา ไม่อ้างอิงตัวเลข อย่างถ้าเจอปัญหาแบบนี้ ของจีนเป็นยังไง ของเราเป็นยังไง แล้วคุณจะเลือกแก้วิธีไหนได้บ้าง กว่าฉันจะฟ้าไชโย กว่าจะรอดมาจนวันนี้นี่ก็เจออะไรมากมาย หรือเนื้อหาเกี่ยวกับ ชิงดำ R3A คือชั่วโมงนี้มันต้องมาชิงดำกันแล้ว เพราะหลายปีก่อนคนไม่กล้าไป กลัวลำบาก  แต่ตอนนี้มีแต่คนพูดถึงเส้นทางนี้ว่าจะไปทำมาหากินยังไง

          ตอนนี้ที่ทำก็มีสองบริษัทหลักๆ แยกประเภทธุรกิจออกไป อย่างฟ้าไชโยนี่อยู่แถวชายแดน ถ้าอินเตอร์จะเรียกเกตเวย์ อย่างโรงแรมก็ชื่อเกตเวย์รีสอร์ทโฮเต็ล อยู่ที่จีนเค้าเรียกผม Gateway consultant เพราะผมเป็นที่ปรึกษาคนที่ขึ้นล่องแถวนั้น ใครอยากจะหาอยากจะรู้อะไรที่ไม่เป็นความลับจนเกินไป ก็จะช่วยกัน

 



ฮ่องกงนับเป็นจุดที่ฝึกเรื่องภาษา เพราะไปใหม่ๆ เราตามเค้าไม่ทัน ภาษาอังกฤษเรายังนั่งสะกดคำอยู่ ไปที่นู่น ตำราหนาปึ้กเลย ก็ไล่กวดกันอยู่นั่น แต่สิ่งที่ได้คือการเรียนด้วยทำงานด้วย เพราะพ่อบังคับว่าถ้าจะเอาตังค์ต้องเขียนจดหมายเป็นภาษาจีนมาถึงจะได้ ผมก็เขียนไม่เป็น ไปจ้างเพื่อนเขียนพ่อก็รู้ โดนด่าอีก เลยทำงานดีกว่า เลยเรียกว่าทำงานหาตังค์ใช้เองมาโดยตลอด ได้ความรู้ตรงนี้ ไปฮ่องกงนับว่าได้วิทยายุทธการเอาตัวรอด นี่คือที่มาที่ไปที่ว่าทำอะไรก็ได้ แล้วผมไม่เคยทำอาชีพซ้ำกันเลย เปลี่ยนตลอด ไม่กลัวและยินดีที่จะเริ่มต้นจากศูนย์เสมอ มันท้าทายดี