ไทย Eng
 


พูดคุยกับคุณวิทูร ทวีสกุลชัย

กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทเกษม
อดีตนายกสมาคมเดอะบอสส์สองสมัย (The Boss รุ่นที่ 5)

 

 

กลุ่มบริษัทของเรามีรากฐานมาจากธุรกิจของครอบครัว ทางท่านประธานคือคุณพ่อ (นายเกษม ทวีสกุลชัย) ท่านเริ่มธุรกิจมาก่อนปีพ.ศ.2500 อีกไม่กี่ปีก็จะครบ 60 ปี ในส่วนของผมที่ดูแลอยู่ทุกวันนี้ก็มีหลายสายงานด้วยกัน คือ ส่วนของโรงงานก็จะดูแลในส่วนโรงรีดอะลูมิเนียม ที่ใช้ชื่อว่า บริษัท แอลเมทไทย จำกัด นอกจากนี้ในส่วนเดิมที่เคยสร้างและพัฒนามา คือการค้าปลีกค้าส่ง ซึ่งเราดำเนินงานนี้มา 20 กว่าปีแล้ว ปัจจุบันกลุ่มบริษัทเกษมเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าหลักอยู่สามตัว คือ กระจก ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายของกระจกไทยอาซาฮี, ส่วนอะลูมิเนียม นอกจากเราจะมีโรงรีดอะลูมิเนียมของเราเองแล้ว เรายังเป็นตัวแทนจำหน่ายของโรงงานอื่นด้วย แล้วด้วยความที่ชอบด้านศิลปะ จึงทำให้เรามีโรงงานเล็ก ๆ ทำกระจกที่เป็นงานตกแต่ง (Decoration Glass) นอกจากนี้งานในส่วนของการรับติดตั้ง ซึ่งก็คือบริษัท กิ้มหยูเส็งค้ากระจก จำกัด เดิมที่เป็นบริษัทเริ่มแรกของคุณพ่อ หลังจากมาจากเมืองจีน ท่านไปอยู่มหาชัย แล้วก็ได้ย้ายเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ท่านได้เรียนรู้การทำงานทางด้านกระจกอยู่แถวราชวงศ์ หลังจากนั้นท่านก็มาเปิดธุรกิจเอง จนกระทั่งเติบโตมาถึงทุกวันนี้

ธุรกิจทั้งหมดที่มีก็ไม่ใช่แค่กิ้มหยูเส็งเพียงอย่างเดียว เรามีอีกหลายบริษัท ยกตัวอย่างเช่น บริษัท คาม่าร่วมทุน จำกัด (KAMA Joint Venture) ที่ทำสนามบินสุวรรณภูมิ ในส่วนของ Main Terminal และอาคารอนุรักษ์พลังงาน ของ ปตท. (ถ.วิภาวดี) และมีผลงานอีกมากมาย ด้วยการทำงานแล้วก็มีการขยายธุรกิจออกไปเรื่อยๆ เรียกว่าหลังจากคุณพ่อออกมาทำธุรกิจเอง ผมก็ดำเนินธุรกิจอยู่บนฐานของตรงนี้ตลอด ทำให้นึกถึงสมัยแรกๆ ที่เราได้เข้าไปอบรมในสถาบันการบริหารและจิตวิทยา (MPI) ท่านอาจารย์หลุย มักจะพูดเสมอว่าให้เราทำในสิ่งที่เราชำนาญ และขยายไปในสิ่งที่เราชำนาญ ดังนั้นในส่วนของตรงนี้ ณ วันนี้เราเองก็จะขยายไปในธุรกิจที่มันเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน แต่ในอนาคตถ้าเราแข็งแรงพอในระดับหนึ่งแล้ว อย่างเช่นในองค์กรใหญ่ๆ บางองค์กรที่ดำเนินธุรกิจด้านอาหาร ก็มีการขยับขยายไปดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการสื่อสาร เพื่อลดความเสี่ยงในสายงานธุรกิจ แต่ประเด็นสำคัญที่สุดมันก็จะอยู่ในเรื่องของคน ซึ่งอาจารย์หลุยท่านจะเน้นตลอดว่าคนนับเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จในการบริหารธุรกิจ


ในส่วนนี้เราจะต้องเข้าใจพื้นฐานของสังคมไทยก่อน ว่าเป็นสังคม ที่เกี่ยวข้องในความสัมพันธ์ ซึ่งกันและกัน ตัวอย่างเช่นทุกวันนี้ถ้าเราอยู่ในธุรกิจเกี่ยวกับวงการก่อสร้างหรือการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็ตาม  ตัวเจ้าของโครงการเองก็จะมีพันธมิตร  ไม่ว่าจะเป็นผู้รับเหมาก็ดี  พันธมิตรในส่วนที่เป็นซัพพลายด้านกระจกอะลูมิเนียมก็ดี  สิ่งเหล่านี้ถ้าทำให้เกิดการทำงานร่วมกันได้แล้วไปด้วยกันได้ดี  เหล่าพันธมิตรเหล่านี้ก็จะพัฒนาร่วมกันไป  ไม่ใช่เป็นวิธีคิดแบบการทำงานสมัยก่อนที่เวลามีโครงการทีก็เรียกผู้รับเหมามาต่อรองราคา  บีบราคาเข้าไป  ซึ่งระบบเหล่านี้ไม่น่าจะเหมาะกับยุคสมัยอย่างในทุกวันนี้แล้ว  ณ วันนี้ เราเองต้องมีพันธมิตรทางธุรกิจ หรือเรียกว่าเราจะต้อง win-win   คำว่าพันธมิตรทางธุรกิจอันนี้ก็เช่นเดียวกันกับตอนทำสนามบินสุวรรณภูมิ  บริษัทที่เป็นผู้รับเหมาขณะนั้นคือ เป็น Joint Venture ระหว่าง บริษัท อิตาเลียน-ไทย, บริษัททาเคนากะ และบริษัทโอบายาชิ  สามบริษัทนี้มารับงานกัน  แล้วเราเองก็เคยทำงานกับทั้งสามบริษัทนี้  ฉะนั้นเรียกว่าเราเป็นที่รู้จักของสามบริษัทใหญ่ที่มารับงานนี้  ประเด็นสำคัญนอกจากนี้คือ  ในด้านต่างประเทศแล้ว   Murphy Jahn ที่เป็นคนออกแบบสนามบินสุวรรณภูมิเอง  เป็นบริษัทของเยอรมัน  แล้วเราเองก็มี บริษัท ไทย-เยอรมัน สเปเชียลตี้ กลาส จำกัด ที่ทำ processing glass ซึ่งในช่วงการลงทุนแรกๆ เราก็มีโอกาสได้ลงทุนกับคนเยอรมัน  เคยขอบีโอไอ  แล้วการขอบีโอไอก็ทำให้เราถูกบังคับว่าต้องส่งออก 80%  ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องไม่ธรรมดาในยุคนั้น

 เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็ต้องชมเชยในส่วนของผู้บริหารโดยเฉพาะพี่ชายคนที่สอง (นายวินัย ทวีสกุลชัย) ที่บริหารโรงงานนี้ จนทำให้เป็นที่รู้จักของบริษัทต่างๆ ในต่างประเทศมากมาย  ซึ่งก็มาจากการที่เค้าต้องส่งออก 80% นั่นเอง  ทำให้มีสายสัมพันธ์อีกอย่างคือเป็นที่รู้จักของ Murphy Jahn ที่ออกแบบตรงนี้ด้วย  พอเหตุและปัจจัยต่างๆ เหล่านี้มาประกอบกันลงตัว  เลยทำให้เราได้มีโอกาสและมีน้ำหนักพอที่จะรับงานตรงนี้   แต่ถ้าพูดถึงสนามบินสุวรรณภูมินี่นับว่ามีเรื่องคุยได้อีกเยอะ  เรียกว่าทั้งผู้รับเหมาและคนออกแบบก็รู้จักเราแล้ว  เราเองแข่งขันประมูลงาน  ซึ่งตอนนั้นมีสามแพ็คเกจด้วยกัน คือ ตัว main terminal ตัว concord คือช่วงทางเดินยาวๆ  แล้วก็ในส่วนที่เป็นผ้าใบ  sky light ข้างบน  ราคาเรามาถูกที่สุด  แต่ตัว main contractor เค้ามองว่าจากเวลาที่มีอยู่

เราไม่น่าจะทำทัน ก็ separate ออกมา  จนมาในส่วนของ main terminal ตรงนี้ ซึ่งส่วนนี้ในการออกแบบ ทีแรกยังไม่นิ่งเลย  มีการเปลี่ยนแบบตลอดเวลา  แต่ในข้อบังคับบอกว่าทางส่วนของ sub contractor  ที่จะมารับงานจาก main ต้องมีประสบการณ์ในระบบนี้มาก่อน  แต่ระบบนี้ที่ Murphy Jahn ออกแบบ ยังไม่เคยทำที่ไหนในโลกมาก่อนเลย  แล้วจะหาบริษัทที่ไหนที่เคยมีประสบการณ์มาก่อนได้  แต่ท้ายที่สุดงานมันจะต้องเสร็จ  เราเองก็ไม่ใช่คนเดียวที่จะทำได้ในสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนในโลกนี้  เราเลยคุยกับบริษัทในอังกฤษ คุยกับอาซาฮีที่ญี่ปุ่น  ท้ายสุดแล้วบริษัทเหล่านี้เค้าก็ปฏิเสธมาว่าเค้าไม่สามารถทำงานชิ้นนี้ได้ อังกฤษก็ปฏิเสธ  เราเลยต้องใช้ประสบการณ์ที่เราสั่งสมมา แล้วพอดีก่อนหน้านั้นผมไปบุกเบิกธุรกิจแล้วก็หาพันธมิตรคู่ค้าในประเทศจีนอยู่  ซึ่งบังเอิญว่าที่ประเทศจีนมีสนามบินที่ใช้ระบบที่เป็นสลิงที่ใกล้เคียงกับแบบสุดท้ายที่ Murphy Jahn ออกแบบ  เลยทำให้เราได้บริษัทใหญ่ ๆ ในจีนสองบริษัทมาช่วยงานเราที่นี่  ถึงบอกว่ามันเป็นเหตุและปัจจัย  และเป็นเรื่องของพันธมิตรในการทำงาน  ซึ่งผมอยากจะยืนยันเป็นส่วนตัวจนถึงวันนี้ว่ามันจำเป็นและสำคัญ  การทำธุรกิจไม่ใช่ว่าจะต้องมาแข่งขันกันอย่างเดียว แต่การทำธุรกิจเป็นอะไรที่เราสามารถจะร่วมมือกันได้ บริษัทจีนสองบริษัทที่มาร่วมงานกับเราเค้าก็สามารถจะเอาผลงานตรงนี้ไป reference งานที่เค้าจะรับกับรัฐบาลจีนต่อไปในอนาคตได้  แล้วงานนี้เราก็สามารถทำเสร็จได้โดยไม่ต้องไปอาศัยบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่ไหน  แต่เป็นพันธมิตรของเราที่เคยทำงานร่วมกันมา


ส่วนใหญ่ที่เราได้รับจะเป็นรางวัลที่มอบให้หลังจากเราทำงานเสร็จ เพราะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงาน ก่อสร้างสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของคุณภาพกับเวลา เพราะเรื่องราคามันจบไปตั้งแต่ที่เราประมูลครั้งแรกแล้ว หนึ่งคือคุณภาพงานจะต้องได้ สองคือเรื่องของเวลา จะต้องทำให้เสร็จตามระยะเวลาที่มี จะเห็นว่าในหลายๆ งานอย่างเช่นสุวรรณภูมิเอง ท่านรัฐมนตรีเองท่านก็เข้ามาดำเนินการเพื่อให้งานมันเสร็จทันเวลาให้ได้ เพราะฉะนั้นทำให้เราได้รางวัลมาจากหลายๆ แห่ง ที่เค้าชมเชยมาในเรื่องของความมุ่งมั่นในการทำงาน และทำงานได้เสร็จตามเวลา ล่าสุดเราทำงานที่เซ็นทรัลอุบลราชธานี เค้าก็มีหนังสือชมเชยมา เพราะเราทำในสิ่งที่เค้าคิดว่าเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ สำหรับกิ้มหยูเส็งแล้วเคยมีเรื่องในอดีตที่เรียกว่าเป็นความภูมิใจเล็กๆ ของเรา คืองานของส่วนกระจกอะลูมิเนียมซึ่งใครทำไม่ได้ แต่เราจะทำได้ อย่างงานของอัมรินทร์พลาซ่า เฟสหนึ่ง ซึ่งคนในวงการส่วนใหญ่ต่างก็คิดว่าเราจะทำงานโครงการนี้ไม่สำเร็จ สุดท้ายเราก็ทำเสร็จได้ตามเวลา ซึ่งงานนั้นผมก็มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ด้วยพอสมควร

 

ตัวอย่างเช่น สนามบินสุวรรณภูมิ  การก่อสร้างระยะเวลามันสั้นมาก เราเองมี Project manager เป็นฝรั่ง  เค้าจะคำนวณเลยว่างานเท่านี้ ต้องใช้คนเท่านี้ ใช้เครื่องมือเท่านี้  แต่ท้ายที่สุดข้อจำกัดในบ้านเรา ทำให้ไม่สามารถหาทุกอย่างได้อย่างที่คิดไว้ตามแผน ช่วงแรกเราเองก็หาผู้รับเหมาที่มีอยู่ในประเทศเสริมเข้ามาเพื่อให้งานมันทัน  แต่ปรากฏว่าผู้รับเหมาที่เราได้มาเป็นผู้รับเหมาแบบไทยๆ คือความรับผิดชอบไม่เหมือนพนักงานประจำของเรา  พอเขาเหนื่อยวันรุ่งขึ้นเขาก็ไม่มา  ในขณะที่งานมันรอไม่ได้  ท้ายสุดสิ่งที่เกิดขึ้นคือ  ผมก็เชิญผู้รับเหมาออกหมดเลย แล้วเอาคนของเราที่เหลืออยู่ครึ่งเดียวของที่กำหนดไว้ในแผนมาทำ  แล้วเราก็สามารถทำเสร็จได้ทันในระยะเวลาที่กำหนด  แต่ไม่ได้จบแค่นั้น  เพราะคนที่เราพูดถึง ที่บอกว่าจำนวนแค่ครึ่งหนึ่งในแผนงานนี่คือคนที่โตมาพร้อมกับบริษัทเรา ไปดูได้เลยว่าพนักงานที่นี่แต่ละคน ทำงานมายี่สิบปี สามสิบปี สิบปีนี่เป็นเรื่องธรรมดาเลยก็ว่าได้
เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือทีมงาน ถ้าเราสร้างเขาให้เกิดความรักใคร่แบบครอบครัว ทีมงานเหล่านี้เขาก็จะทำงานให้เราเหมือนเขาเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของเรา ซึ่งหมายถึงความเป็นเจ้าของ จิตวิญญาณตรงนี้ผมถือว่าสำคัญมาก  แม้กระทั่งทุกวันนี้ที่องค์กรเราโตขึ้นเร็วมาก  ใช้มืออาชีพมากขึ้น จิตสัมผัสตรงนี้มันก็ลดน้อยลงไปสวนทางกับขนาดและก็ปริมาณของคนที่มันมากขึ้น ยกตัวอย่างสมัยเริ่มแรกคุณพ่อเริ่มต้นตั้งแต่พนักงานสองสามคน จนวันนี้มีพนักงานสามพันคน ตรงนี้เองก็เป็นอีกเรื่องที่ผมอยากจะฝากเป็นข้อคิดสำหรับผู้บริหาร คือคำว่าธุรกิจครอบครัว ถ้าเราใช้ให้ถูกแล้วมันยังเป็นคำที่มีพลังอยู่เสมอ

 

เป็นเหตุบังเอิญเลย เพราะผมเองไม่ได้เป็นคนสมัคร คือเดอะบอสส์นี่เป็นหลักสูตรที่พี่ชาย (นายวินิจ ทวีสกุลชัย) ไปสมัครไว้ แล้วพอถึงเวลาไปอบรม เขามีตารางเวลาที่ต้องไปต่างประเทศ เขาเลยส่งผมเข้าไปเรียนแทน จนทุกวันนี้ครูบาอาจารย์คนหนึ่งที่ผมต้องพูดถึงกับทุกคนตลอดเวลา ว่าทุกวันนี้ที่ผมประสบความสำเร็จได้หรือมีความสามารถได้ขนาดนี้คืออาจารย์หลุยเป็นอาจารย์คนหนึ่งของผม ที่ทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมากเลย จากที่จบปริญญาตรีใหม่ๆ ทำท่าจะไปเรียนต่อต่างประเทศ แล้วไม่ได้ไปเนื่องจาก accident หลายๆ อย่าง สุดท้ายก็เข้ามาทำงาน ฉะนั้นเวลาเข้ามาทำงานในธุรกิจซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัว สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือการลองผิดลองถูก พอเราได้เข้าไปอบรมทำให้เรารู้สึกว่าเราช่างมีความรู้ต่างๆ เหล่านี้น้อยมากเลยทีเดียว หลังจากที่ได้อบรมจนจบ ซึ่งตอนที่ผมอบรมเป็นรุ่นที่ 5 นับเป็นรุ่นต้นๆ รุ่นที่ผมสนิทก็จะเป็นรุ่นพี่ รุ่นน้อง เรียกว่าย้อนขึ้นไปห้ารุ่น และนับถัดไปห้ารุ่น เป็นรุ่นที่ค่อนข้างสนิทกัน เราได้เรียนรู้อะไรมากมายจากผู้มีประสบการณ์ อย่างเช่นคุณพิเชษฐ์, คุณวิสุทธิ, คุณปกรณ์ บุคคลเหล่านี้เราได้เรียนรู้จากท่านมากมาย ในช่วงที่เราทำงานตอนนั้นยังไม่เป็นสมาคม เราทำงานภายใต้ชื่อที่ยังเป็นชมรมอยู่ด้วยซ้ำไป มาเปลี่ยนเป็นสมาคมนี่น่าจะเป็นรุ่นที่ 10 ขึ้นไปแล้ว เราก็มีโอกาสทำงานในส่วนของชมรม จนมาเป็นสมาคมในท้ายสุด เรามีการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เรามีการเรียนรู้ในสิ่งที่แต่ละท่านคิด อันนี้ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลสำหรับสิ่งที่เกิดในชีวิตผม และก็มีประธานชมรมมาเรื่อยๆ จนมาเป็นนายกสมาคม และมาประมาณปี 42-43 ก็ได้รับความไว้วางใจจากพี่ๆ และอาจารย์ให้เป็นนายกสมาคม แล้วก็ในหลักการเดียวกัน เราก็ดูพี่ๆ สมัยนั้นที่เค้าทำงานทุ่มเทให้ตั้งแต่สมัยชมรมจนมาเป็นสมาคม

เราเองก็มีธรรมเนียมและแบบปฏิบัติสืบต่อกันมา เราก็ทำงานด้วยความทุ่มเท แต่ผลสำเร็จที่ได้ไม่ได้มาจากการที่เราเก่งหรือทุ่มเทอยู่คนเดียว ผมยังกลับมาที่เป็นเพราะเรารักกัน เรามาสัมมนากัน มีอาจารย์คนเดียวกัน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เราช่วยเหลือกัน เรารักกัน มันก็จะเป็นพลังในการผลักดันของความสำเร็จของกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เรียกว่าสมัยของผมที่ทำงานแล้วประสบความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่ผมคนเดียว แต่มันอยู่ที่ทุกคนแบบที่เวลาคุณไปสัมภาษณ์แล้วเรามีการพูดถึงกันและกันตรงนี้อยู่ตลอดเวลา อย่างมาถามผม ผมก็พูดถึงคุณพูลศรีว่าให้การสนับสนุน พูดถึงพี่วิสุทธิที่ให้การสนับสนุนมาทุกรุ่นแม้กระทั่งทุกวันนี้ พูดถึงคุณปกรณ์, อาจารย์พิเชษฐ์, คุณศักดิ์ชัย แล้วก็อีกหลาย ๆ คนอีกเยอะแยะ ที่ทุกคนได้ช่วยกิจกรรมกันมาตลอด เพียงแต่ในช่วงหลังเราเองก็เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานบ้าง เพราะเราเองก็จะได้มีไอเดียมีความคิดใหม่ๆ เข้ามาเช่นกัน ในส่วนตรงนี้ก็คือได้เข้าไปเรียน เรียนจบก็ได้ทำงานให้กับสมาคม แล้วก็ได้รับความไว้ให้เป็นนายกสมาคมสองสมัย จนทุกวันนี้เองก็ยังมีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมของทางสถาบันอยู่บ้าง มีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปศึกษา หรือในส่วนของสมาคมไม่ได้เข้าไปช่วยโดยตรง แต่เวลาท่านเชิญมาถ้าเห็นว่าเราช่วยได้เราก็จะเข้าไปช่วย

 

 

 

 

 

เนื่องจากผมเป็นคนพูดไม่เก่ง เลยคิดว่าเป็นนักปฏิบัติมากกว่านักบรรยาย แล้วในส่วนตรงนั้นเองก็มี ครูบาอาจารย์เก่ง ๆ เยอะที่เป็นรุ่นพี่ ๆ ท่านเหล่านั้นที่เป็นทั้งรุ่นพี่เป็นทั้งอาจารย์ท่านน่าจะทำได้ดีกว่า แต่ผมก็พร้อม ถ้าประสบการณ์ที่ผมมีจะเป็นประโยชน์ได้กับความสำเร็จในการบริหารธุรกิจ วันนั้นผมก็อาจจะเข้าไปช่วยในประเด็นนี้ก็ได้


เราทำให้เขารักไงครับ  ผมบอกกับตัวเองตลอดเวลาว่าเราไม่ใช่คนเก่ง นั่นก็คือสิ่งหนึ่งที่จะทำให้ เราประสบความสำเร็จจากความสำเร็จของคนอื่นได้ เราพร้อมจะเรียนรู้ในสิ่งที่คนอื่นประสบความสำเร็จ ตัวอย่างเช่น ถ้าเราคิดว่าเราเก่ง เราไปเจอคนเก่ง  ต่างคนต่างเก่งเราจะคุยกันไปได้นานไหม แต่ ณ วันนี้เอง สมัยนั้นที่ผ่านมา ประเด็นตรงนี้คือผมพร้อมจะเรียนกับทุกๆ คน ผมมักจะกระเซ้ากับเจ้าหน้าที่ของผมว่าแปลกใจ  ทำไมผมถึงมีเพื่อนที่อาวุโสกว่าตลอด  แต่ผมก็สรุปได้เองว่า วิธีคิดแบบนี้ทำให้ผมได้เปรียบ คือคนที่มีอายุมากกว่าในกลุ่มตรงนี้ก็คือคนที่มีประสบการณ์หลากหลาย เราสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ที่หลากหลายตรงนั้นได้ แล้วเราทำให้เขารักก็หมายถึงอ่อนน้อมเข้าหา แล้วงานของสมาคมมันเป็นงานที่ต้องรับใช้  ไม่ใช่งานที่สั่งแบบสั่งลูกน้อง  ฉะนั้นเมื่อเขารักเราเขาก็พร้อมจะช่วยเรา งานของสมาคมก็จะประสบความสำเร็จ  แบบที่ผมบอกว่าผมถึงนึกถึงพี่ๆ ที่มีส่วนสนับสนุนให้เราประสบความสำเร็จ  อีกท่านที่จะไม่พูดไม่ได้เลยคือคุณเบญจวรรณ ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็นเบญญาภา  เป็นอีกท่านที่มีส่วนผลักดันในความสำเร็จ ทั้งตัวผม ชมรม สมาคม มาจนถึงทุกวันนี้


จริงๆ เคยมีคำพูด อยู่เหมือนกันนะครับ ว่าถ้ารักกันก็อย่าทำธุรกิจด้วยกัน แต่ในส่วนของผมเอง เป็นธุรกิจของครอบครัว เรามีพี่น้องเป็นกรรมการหลายคน การร่วมธุรกิจกับใครมันก็จำเป็นจะต้องได้รับการอนุมัติจากกรรมการก่อน เลยเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายที่จะไปร่วมกับใคร เราเองก็เคยมีการร่วมธุรกิจกับคนอื่นมาก่อน แต่ท้ายที่สุดวิธีคิดในการทำธุรกิจที่ไม่ตรงกันมันก็เป็นอุปสรรคเหมือนกัน แต่ถามว่าร่วมกันอย่างอื่นเป็นไปได้หรือไม่ ก็เป็นไปได้ อย่างผมเองวันหนึ่งคิดจะลงทุน เนื่องจากห้าสิบกว่าปีที่ผ่านมาทางเราก็มีการลงทุนซื้อที่ดินไว้พอสมควร เลยคิดว่าวันหนึ่งอาจจะทำด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ พอคิดแบบนี้ท่านแรกที่นึกถึงคือพี่ปกรณ์กับ RM Property พี่ปกรณ์ทำเรื่องนี้มาตลอดชีวิต ถ้าเราเองไปขอความรู้จากท่านมันน่าจะดีสำหรับเรา พอเราเข้าไปท่านก็ต้อนรับเราอย่างดี ถ่ายทอดทุกอย่างที่ท่านมีให้เรา แต่ด้วยขีดจำกัดของสภาวะเศรษฐกิจและขีดจำกัดด้านเวลา ทำให้เราได้ศึกษาไประดับหนึ่งแล้วก็ยังไม่ได้เริ่มอย่างจริงจัง ก็รอเวลาสำหรับรุ่นต่อไปที่จะเข้ามาสานต่อสิ่งที่เราคิดเหล่านี้ เพราะสิ่งที่เราเจอแล้วเราบอกตัวเองตลอดคือ เราทำในสิ่งที่เราไม่ถนัด สองเราไม่มีคนที่ถนัดด้านนี้มาช่วย สิ่งนั้นเราจะทำไม่ได้ ตรงนี้เองเลยเป็นสิ่งที่อยู่ในใจเรา เรื่องอื่นๆ ก็มีเยอะเหมือนกัน

ในสามพันคนของเดอะบอสส์ตรงนี้ผมเชื่อว่ามีครอบคลุมกันทุกแขนงของธุรกิจ แล้วผมก็อยากจะบอกความในใจลึกๆ เหมือนกันว่าไม่ใช่ว่าเราจะคุยได้หมดทั้งสามพันคน คือไม่ได้บอกว่าเขาดีหรือไม่ดี แต่วิถีทางที่เขาเติบโตแล้วก็สิ่งแวดล้อมที่เขาผ่านมาจนประสบความสำเร็จ มันจะบ่มเพาะเป็นบุคลิกและนิสัยของเขา ไม่ใช่ว่าเราจะจูนกันติดทุกคน วิธีคิดที่แตกต่างกันมันไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากในการที่เราจะรู้จักกับใคร ผมจะบอกกับใครๆ อยู่เสมอ ว่าเราจะต้องเริ่มต้นจากการรู้จัก สเต็ปต่อไปคือสนิท รู้ว่าเขาเป็นยังไง เขารู้ว่าเราเป็นยังไง ต่อไปก็ค่อยมาพูดถึงการทำธุรกิจร่วมกันหรือทำประโยชน์ร่วมกัน ถ้าไม่ผ่านสามสเต็ปนี้ก็รับประกันได้เลยว่า fail หรือไม่อย่างนั้นก็อาจเป็นการร่วมลงทุนซื้อหุ้น เอาบริษัทเข้าตลาด ซึ่งนับว่าไม่ได้เข้ามาในรายละเอียดในเรื่องการบริหารจัดการด้านธุรกิจอันนั้นก็อาจเป็นไปได้ แต่การที่เราจะมีโอกาส win-win ในเดอะบอสส์ด้วยกันก็คือ ทุกวันนี้เรามีพี่น้องอีกหลายท่านที่รู้จักกันตั้งแต่รุ่นแรกๆ ซึ่งนับว่ายี่สิบกว่าปีแล้ว เรายังเจอกันจนทุกวันนี้เวลาเจอกันทานข้าวกันเราไม่ได้ถกกันเรื่องธุรกิจอย่างเดียว เรายังมีการคุยอย่างอื่นกัน เช่นพี่ปรีชา ส่งวัฒนาจากฟลายนาว ก็พูดเรื่องเปิด outlet แล้วเป็นอย่างไร พี่ปกรณ์พูดเรื่องไปทำโครงการที่เขาใหญ่เป็นอย่างไร แต่ท้ายสุดที่เราถกกันคือเรื่องธรรมะ หัวข้อของธรรมะ หลายคนเข้ามาศึกษาทางนี้เราก็เอามาแลกเปลี่ยนกัน

 


เนื่องจากคนที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ เพราะฉะนั้นก็จะเป็นตัวชูในเรื่องธุรกิจ แต่ผมคิดว่าอะไร ที่ลงตัว อย่างเราพูดถึงพันธมิตรทางการค้ามันก็คือ win-win ตัวอย่าง ณ วันนี้ คืออย่างผมทำธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง อาซาฮีเองก็เปิดมาหลายสิบปีแล้ว แต่สิ่งหนึ่ง ณ วันนี้ จากเมื่อก่อนที่เราซื้อของเขา ต่อรองราคาเขา พอมาวันนี้เราดิวกันในภาพที่เค้าทำหน้าที่ผลิต เราทำหน้าที่ขาย เราเอาหน้าที่สองอันนี้มารวมกัน มาประชุมนั่งวางแผนกัน หรือแม้กระทั่งโปรเจคท้ายสุดที่เราจะทำที่ภูเก็ต ซึ่งเป็นลักษณะ solution center ก็เป็นการรวมกันของสินค้าหลักที่เราทำเรื่องธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง เข้ามาจัดเซ็ทกันเป็น solution center นำสินค้าเฉพาะในกลุ่มนี้เข้ามา ผู้ผลิตหลายๆ เจ้าเข้ามา เราในฐานะเจ้าของสถานที่ ในฐานะผู้มีความชำนาญในการให้บริการด้านติดตั้ง เข้ามาวางแผนร่วมกันเพื่อทำการตลาดการร่วมกัน ทำการขายร่วมกัน เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นร่วมกัน ไม่ใช่อย่างสมัยก่อนที่บอกว่าต่อรองให้ถูกๆ เอาของเข้ามาขาย มันไม่ใช่แล้ว สภาพของธุรกิจมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว แบบนี้จะเห็นภาพชัดขึ้นเรื่อยๆ ส่วนกับลูกค้ารายอื่นๆ เราก็มองว่า อย่างธุรกิจในเรื่องการติดตั้งพวกโครงการต่างๆ เหล่านี้ ณ วันนี้โครงการที่มันเกิดขึ้น เรื่องของคนนี่มันไม่ได้มีผลิตในสถาบันการศึกษาทางด้านช่างกระจก อะลูมิเนียม ยิปซั่ม แต่มันเป็นเรื่องที่เราเองก็ต้อง on the job training หลังๆ เราทำแม้กระทั่งเป็นศูนย์ฝึกเพื่อผลิตคน แต่มันก็ไม่ทัน แล้วในส่วนของคู่ค้าเรา จากแต่ก่อนที่คุยในสถานะคู่ค้าและคู่แข่งด้วยเพราะอาจจะต้องไปเจอที่ต้องรับงานแข่งกัน แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว เราเข้ามาร่วมมือกัน อย่างsolution center ลูกค้าเข้ามา เรารับงานมา เรากระจายไปให้คู่ค้าของเราซึ่งอีกสถานะก็คือคู่แข่งนั่นเอง มันก็จะเกิดความร่วมมือกัน


อันนี้ก็เป็นปัญหาอยู่พอสมควร แต่ผมโชคดีที่ในส่วนของครอบครัว ลูกๆ สามคนก็จะช่วยเหลือตัวเองได้ เพราะถูกส่งไปอยู่ต่างประเทศตั้งแต่เล็กๆ แล้วก่อนหน้านั้นเวลาไปไหนเราก็จะไปด้วยกัน อย่างงานของเดอะบอสส์เราก็ไปด้วยกัน ยกกันไปทั้งครอบครัว ก็บริหารจัดการแบบอะไรที่ทำด้วยกันได้เราก็ทำร่วมกัน อะไรที่เราทำร่วมกันไม่ได้ เราก็แบ่งกันไปเพื่อบริหารเวลาที่มีอยู่จำกัดให้มันลงตัวที่สุด อันนี้เป็นสิ่งสำคัญในการบริหารเวลา


วันนี้ในส่วนของหลานชาย ลูกพี่ชายคนโตก็เริ่มเข้ามาทำงานแล้ว แต่ละคนก็ไปอยู่ต่างประเทศตั้งแต่ เด็กๆ มัธยม ปริญญาตรี ปริญญาโทสองใบ แล้วเข้ามาช่วยทำงาน ลูกผมเองจบปริญญาโทแล้ว กลับมาผมก็ส่งไปทำงานที่บริษัทข้างนอกก่อนสักระยะ แล้วถึงให้กลับเข้ามาทำของเรา ลูกคนที่สองจะจบสิ้นปีนี้ก็คงใช้หลักการเดียวกัน ส่วนคนเล็กยังเรียนปริญญาตรีอยู่ แต่ผมเองไม่เคยบังคับ และเราก็พูดคุยกันในครอบครัวตลอดว่าไม่ใช่ทุกคนที่เราจะยัดเยียดงานให้เขาทำ แต่เราจะดูความสามารถกับความเหมาะสมของเค้า ถามว่าเราอยากให้เค้ามาสานต่อไหม เราก็ต้องอยากอยู่แล้ว แต่บางคนก็บอกว่าสิ่งที่พ่อทำไว้เขาไม่อยากทำ อยากไปเรียนหมอ ทุกวันนี้ก็มีบางคนไปเรียนหมอ บางคนก็ไปทำด้านสาธารณกุศล บางคนไปเรียนแล้วอยากเป็นนักกายภาพ อยากทำอะไรต่างๆ ของเขา เราเองก็ค่อนข้างเปิด แต่จะชี้ให้เห็นว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ถูกสร้างมาตั้งแต่สมัยปู่ จนมาสมัยพ่อจนสมัยเขา เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีคนมาสืบทอดต่อเหมือนกัน หลายคนก็คงจะเข้ามา หลายคนก็คงต้องใช้เวลาสักระยะ

 


อย่างที่บอกว่า เราสะสมที่ดินไว้ค่อนข้างเยอะ เลยน่าจะมีแนวโน้มที่ไปลงทุนตรงนี้ แต่งานหลักเรา ก็มีการไปทำงานในต่างประเทศ เช่น เราไปทำโปรเจคในพม่า ในมาเลเซีย ไทยเยอรมันก็ส่งสินค้าไปออสเตรเลีย ส่งไปในญี่ปุ่น เพราะฉะนั้นในวันนี้ถ้าพูดถึง AEC ก็นับว่าเป็นความหวังอยู่เหมือนกันว่า จะทำให้ตลาดของเราใหญ่ขึ้น แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องมีความพร้อมเหมือนกัน พร้อมในด้านบุคลากร เพราะจะมีเรื่องกฎหมายต่างๆ เข้ามา ผมเองชอบเดินทางต่างประเทศ เคยแม้กระทั่งจะไปรับงานในอิหร่าน เคยจะไปลงทุนในคาซัคสถาน ทางสถาบันฯ เองยังเคยจะเชิญผมไปพูดเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศเหล่านี้ ไปเมืองจีนก็ไปจนได้พันธมิตรกลับมาช่วยงานที่สุวรรณภูมิอย่างที่บอก ผมเลยมองว่าธุรกิจทุกวันนี้ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย ธุรกิจเดิมก็จะมีพื้นที่ที่เราจะขยายออกไปได้พอสมควร พร้อมๆ กับปัจจัยที่เรามีอยู่ก็น่าจะมีโอกาสที่จะทำธุรกิจอย่างอื่น แต่ธุรกิจอื่นๆ นี้จะเป็นกิ่งที่แตกออกไปจากลำต้นใหญ่ซึ่งเป็นธุรกิจเดิมนั่นเอง


ผมเกษียณตัวเองมาตั้งนานแล้ว เพียงแต่ในความเป็นจริงยังไม่สามารถเกษียณตัวเองได้ 100%


ประเด็นคือ ณ วันนี้ โลกใบนี้มันใหญ่ก็จริง แต่มันแคบลงไปเยอะแล้ว การที่มันใหญ่แล้วมันแคบลง หมายความว่าในเรื่องของ globalization เราดูง่ายๆ อย่างอินเตอร์เน็ตทุกวันนี้ก็แข่งขันกันเรื่องความเร็ว โลกใบนี้มันใหญ่จริงแต่มันแคบลง การที่เราจะเบ่งตัวขึ้นไปให้ทันกับเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงในโลกนี้โดยตัวคนเดียวนี่มันจะลำบาก ดังนั้นสิ่งที่ควรคำนึงคือพันธมิตร หรือที่เราพูดกันว่าจะใช้คำว่า win-win กับใครได้บ้าง ในความเห็นผมพันธมิตรในทางธุรกิจในความเห็นผมคือสิ่งจำเป็น แต่การที่เราจะได้พันธมิตรตรงนี้ ถ้าเราเก็บตัวอยู่ในออฟฟิศเฉยๆ โอกาสที่จะเจอพันธมิตรคงลำบาก เพราะอย่างที่ผมพูดถึงคือ รู้จัก สนิท แล้วถึงจะทำอะไรต่ออะไรด้วยกัน เพราะฉะนั้นมันคงไม่ได้ใช้เวลาแค่วันสองวัน เราจะต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เราจะต้องมีโอกาสที่จะร่วมอะไรกันไม่มากก็น้อยถึงจะรู้จักกัน เราถึงจะตัดสินใจว่าจะร่วมกันทำงานได้ ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ผมก็ขอยืนยันว่า กระทั่งหลักสูตรเดอะบอสส์ก็ทำให้เรามีโอกาสได้เจอผู้คนอีกเยอะๆ แม้กระทั่งหลักสูตรอื่นๆ อีกมากมายที่คนเอามาแซวกันว่าเป็นหลักสูตรไฮโซทั้งหลาย อย่าง วปอ. ปปร. บยส. บยป.หรือ วตท. ผมเองก็เรียนมาเกือบจะครบเหมือนกัน มันก็ทำให้เราได้เจอคนต่างๆ อีกมากมาย เราเองก็จะคัดกรองได้ว่าใครที่จะสามารถอยู่ข้างกายเราได้โดยที่เราไม่ต้องระมัดระวัง หรือใครบ้างที่เราจะหันหลังให้เขาไม่ได้ ตรงนี้ต่างหากที่จะทำให้เรามีโอกาสที่จะเกิดขึ้น พอโอกาสเกิดขึ้นบางทีไม่แน่เราอาจจะไม่ได้ทำได้ด้วยตัวเราเอง

ผมยกตัวอย่าง บริษัทไทยเยอรมันของผม ทำงานให้กับบริษัท Dupont เอาเข้ามาใช้ก็มี เอาเข้ามาทำเป็นงานออกไปก็มี จนกระทั่งวันหนึ่ง ทางการไฟฟ้าเค้ามีโครงการเกี่ยวกับ solar cell ที่ติดตั้งบนหลังคา ตัวนี้ดูปองค์มีไอเท็มสินค้าอยู่เป็นหมื่น เค้าก็มาคุยกับเราว่าทำไมไม่สนใจจะทำอะไรเกี่ยวกับ solar cell บ้างเหรอ ประจวบเหมาะกับโครงการใหม่ของการไฟฟ้าซึ่งสนับสนุนให้มีการตั้ง solar cell บนหลังคาพอดี นี่ก็เป็นพันธมิตรทางการค้าที่ทำให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ขึ้นมา แต่เราก็ไม่ถือว่า solar cell เป็นเรื่องที่ห่างตัว เพราะเราก็พยายามจับและศึกษามานานแล้ว พอวันนี้มันก็ได้โอกาสร่วมมือกัน เราก็ไปขอใบอนุญาตขอ license ขณะนี้เราเอาโรงงานเราสามแห่งที่จะติดตั้ง solar cell ไปขอใบอนุญาตจากการไฟฟ้าแล้วเหมือนกัน อันนี้คือหนึ่งในโอกาสที่เกิดขึ้น ผมจึงขอย้ำเน้นว่าในความเห็นผม โอกาสที่เกิดขึ้นหมายถึงอะไร เราเองก็ต้องมีเพื่อน เพื่อนเกิดจากอะไร เพื่อนจากหลักสูตรนั้นหลักสูตรนี้ เราเองก็มีเพื่อนตั้งแต่รุ่นที่ 1 และทุกวันนี้ก็ยังมีเพื่อนอย่างน้อยสิบคนที่เราคุยด้วยกันประจำ โอกาสต่างๆ เหล่านี้ พันธมิตรทางการค้า ในที่ที่เราเองจะปรับธุรกิจให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้เรียกว่าพันธมิตรทั้งนั้น แล้วมันก็จะสอดคล้องกับคำว่า win-win เหล่านี้คือสาระและใจความสำคัญที่อยากจะฝากให้กับทุกท่าน มันอาจจะเป็นความคิดเล็ก ๆ จากผมอันหนึ่ง แต่ผมก็เชื่อว่าในความคิดเล็กๆ ตรงนี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยสำหรับคนที่มีโอกาสได้ยินหรือได้เห็นในสิ่งที่ผมพูดไปในวันนี้